จีนหั่นดอกเบี้ย ผลกระทบบานปลาย ไทยเสี่ยงโดนหางเลข

25 ก.ย. 2567 | 01:39 น.
อัพเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2567 | 01:41 น.

เศรษฐกิจจีนระส่ำ วิกฤติอสังหาฯ ยืดเยื้อซ้ำเติม หนุนธนาคารจีนออกมาตรการเร่งด่วน หวังกอบกู้เศรษฐกิจให้ฟื้นตัวกลับมาเติบโต 5% โบรกมองจีนหั่นดอกเบี้ยจะออกผลต้องใช้เวลา ชี้ปี 68 ยังชะลอตัวต่อ หวั่นสินค้าราคาถูกจีนถล่มตลาดไทย ผู้ประกอบการตัวเล็กทรุด

หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ และเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางในเอเชียสามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินตามได้ ทำให้วานนี้ (24 ก.ย.2567) ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศปรับลดปริมาณการตั้งเงินสำรองไว้ที่อัตราที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2020 และปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่เร่งด่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงิน

มาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจเร่งด่วนของ PBOC

  • การปรับลดอัตราดอกเบี้ย Reverse Repo Rate ระยะ 7 วัน ลงจาก 1.7% เป็น 1.5%
  • ปรับลดอัตราส่วนการตั้งเงินสำรอง Reserve Require Ratio ลง 0.50% จัดสรรเงินกู้ระยะยาวมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 1.4178 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ)
  • ปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะกลาง Medium-Term Lending Facility) ลง 0.3% 
  • หากจำเป็นอาจปรับลดอัตราส่วนการตั้งเงินสำรอง RRR เพิ่มอีก 0.25-0.50% ในปีนี้เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
  • การลดอัตราส่วนการตั้งเงินสำรอง RRR จะไม่ครอบคลุมธนาคารขนาดเล็กและธนาคารในชนบท

พร้อมกันนี้ ทาง PBOC ยังได้ประกาศมาตรการสนับสนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ อาทิ การลดต้นทุนการกู้ยืมสินเชื่อบ้านมูลค่า 5.3 ล้านล้านดอลลาร์ และผ่อนคลายกฎเกณฑ์สำหรับการซื้อบ้านหลังที่สอง ลดเงินดาวน์สำหรับการซื้อบ้านหลังที่สอง ลงจาก 25% เป็น 15% ในขณะสินเชื่อที่มีอยู่เดิมจะปรับลดลงโดยเฉลี่ย 0.5% เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ครัวเรือน

รวมถึงยังอนุญาตให้กองทุนและโบรกเกอร์สามารถเข้าถึงเงินทุนจากธนาคารกลางเพื่อนำไปซื้อหุ้นได้อีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นแพ็คเกจใหญ่ที่ธนาคารกลางของจีน ได้ประกาศชุดมาตรการสนับสนุนทางนโยบายครั้งใหญ่ที่สุดในปีนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ประมาณ 5%

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าการประกาศปรับลดดอกเบี้่ยอัตรานโยบายของ PBOC ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมาย เนื่องจากเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2/2567 ที่ผ่านมาเติบโตน้อยกว่าที่คาด ตัวเลขทางเศรษฐกิจในเดือนส.ค. ผิดจากที่คาดไว้มาก

ประกอบกับวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ยังเป็นปัญหาหนัก ยอดขายบ้านนับตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบันยังคงมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนในทุกเดือน ภาคการผลิตไม่ดีอย่างที่คาด ค่าเงินหยวนแข็งค่าเยอะ ตอกย้ำความเร่งด่วนที่ผู้กำหนดนโยบายต้องออกมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม

แล้วเศรษฐกิจชะลอตัวลงส่งผลกระทบต่อไทยได้อย่างไร ตอบคำถามนี้เลยว่าด้วยจีนเป็นคู่ค้าหลักของไทย สินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่ถูกส่งไปยังประเทศจีน เมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวก็หมายความว่าคำสั่งซื้อที่เคยได้รับอาจถูกปรับลดปริมาณลง และภัยเงียบที่กำลังใกล้เข้ามาและต้องให้การจับตา คือ การไหลทะลักเข้ามาของสินค้าจีน

เนื่องจากภาคการผลิตจีนไม่สามารถหยุดการผลิตลงได้ และยังคงมีการผลิตในปริมาณที่มากอยู่ เมื่อสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศไม่ได้โดยเฉพาะในสหรัฐฯ เพราะถูกกีดกันจากกำแพงภาษีที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้สินค้าเหล่านี้จะถูกกระจายออกมายังภูมิภาคเอเชีย และโดยเฉพาะไทยมากขึ้น

"นี่อาจเป็นผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในอนาคต เพราะการที่จีนผลิตในปริมาณมากต้นทุนการผลิตย่อมถูกกว่าเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการไทย สินค้าจึงมีราคาที่ถูกกว่ามาก จุดนี้อาจเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องพิจารณาความเหมาะสมของกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อช่วยปกป้องผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะในธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่ฐานทุนและสภาพคล่องไม่ได้มีมากเหมือนธุรกิจขนาดใหญ่"

ด้านนายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น มองว่าเป็นการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับภาวะเงินฝืดรุนแรงในปัจจุบัน

แน่นอนว่าหลังจากที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแล้วผลจะยังคงไม่ได้เกิดขึ้นในทันที และต้องใช้ระยะเวลา ทำให้คาดการณ์ว่าในปี 2568 เศรษฐกิจจีนยังคงอยู่ในสภาวะชะลอตัว การที่จะไล่ให้ GDP กลับขึ้นไปเติบโตที่ใกล้เคียงกับจุดเดิมได้นั้นอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายด้วยฐานในอดีตที่ค่อนข้างสูง

ด้วยประเทศจีนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ไม่สามารถยับยั้งการหดตัวของเศรษฐกิจจีนได้ เพียงแต่จะทำให้ง่ายต่อการประคับประคองตลาดให้เดินไปต่อได้ ไม่ให้ล้มลงแรง หรือกล่าวง่ายๆ คือ การจำกัดขอบเขตของผลกระทบลง โดยเฉพาะในเรื่องของภาคอัสงหาริมทรัพย์ที่กำลังเป็นปัญหาอย่างหนักในเวลานี้

อนึ่ง สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2567 ของจีนขยายตัวเพียง 4.7% ชะลอตัวลงจากไตรมาส 1/2567 ที่มีการขยายตัว 5.3% สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ตัวเลข GDP จีนขยายตัวที่ระดับ 5% จากการบริโภคในไตรมาส 2/2567 เติบโตชะลอลงอยู่ที่ 2.6% เทียบจากช่วงเดียวกันในปีก่อน จาก 4.7% เทียบจากช่วงเดียวกันในปีก่อน

รวมถึงการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ในครึ่งแรกของปี 2567 หดตัวที่ -10.1% เทียบจากช่วงเดียวกันในปีก่อน นอกจากนี้ NBS ยังได้เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ของจีน ได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย. ปรับตัวขึ้น 2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.3%

ในขณะที่เดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิ.ย. ปรับตัวขึ้น 5.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 5% และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 นี้ เพิ่มขึ้น 3.9% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ทั้งนี้ ทาง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดมุมมองต่อเศรษฐกิจจีนไว้ก่อนหน้านี้ว่า ความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ การกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนทำผ่านฝั่งอุปทานเป็นหลัก ขณะที่ฝั่งอุปสงค์การใช้จ่ายภายในประเทศยังได้รับแรงกดดันจากความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ และความกังวลเกี่ยวกับภาวะรายได้และการจ้างงาน

โดยทางการจีนมีแผนที่จะออกกฎเพื่อกำหนดเพดานรายได้รายปีของพนักงานในกลุ่มธุรกิจการเงินของภาครัฐให้ไม่เกิน 3 ล้านหยวนต่อปี นอกจากนี้บริษัทตรวจสอบบัญชีชั้นนำของโลกในจีนได้ปรับลดคนงานเพื่อปรับโครงสร้างองค์กร

ในขณะที่การส่งออกจากจีนมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น จากการยกระดับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากยุโรป นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆ เช่น แคนาดา ยังมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

ปัญหาหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น ส่งผลต่อข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน เดิม Local Government Financing Vehicle (LGFV) เป็นเครื่องมือจัดหาเงินทุนของรัฐบาลท้องถิ่นจีนที่มีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน

แต่ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลจีนต้องควบคุมความเสี่ยงสะท้อนจากยอดตราสารหนี้ที่ออกใหม่หักด้วยตราสารหนี้ที่ครบกำหนด (Net Financing) ของโครงการ LGFV ในไตรมาส 2/2567 ที่ลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 ที่ -179 พันล้านหยวน