ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้4ต.ค. “แข็งค่าเล็กน้อย” ที่ระดับ 33.12 บาทต่อดอลลาร์

04 ต.ค. 2567 | 01:13 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2567 | 02:48 น.

ค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวน ส่วนเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways มีจังหวะแข็งค่าขึ้น มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.00-33.30 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้4ต.ค. 2567  ที่ระดับ  33.12 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.14 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผย แนวโน้มของค่าเงินบาท โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ ทว่า เงินบาทก็ยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 33.20 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ได้อย่างชัดเจน

ซึ่งก็สอดคล้องกับมุมมองของเราว่า “ตราบใดที่ราคาทองคำยังมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นได้ จากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง เงินบาทก็อาจไม่สามารถอ่อนค่าลงได้ต่อเนื่องอย่างชัดเจน”

ทั้งนี้ เรายังคงมีความมั่นใจอยู่ว่า เงินบาทจะมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงได้ หากเงินบาทไม่ได้กลับมาแข็งค่าขึ้นจนหลุดโซนแนวรับ 32.70-32.80 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ จากสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2010 เราพบว่า หากเกิดสัญญาณ Long USDTHB จากเครื่องมือเชิงเทคนิคัลอย่าง Supertrend (KivancOzbilgic)

ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว แรง จน RSI ของ USDTHB เข้าสู่โซน Oversold พบว่า เงินบาท (USDTHB) อาจอ่อนค่าต่อได้ราว +2% หรือมีโอกาสเห็นเงินบาทกลับไปแถว 33.25-33.50 บาทต่อดอลลาร์ได้

ซึ่งภาพดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ไม่ยาก หาก 1) บรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยอย่างที่เราประเมินไว้ ซึ่งล่าสุดนักลงทุนต่างชาติก็ขายสุทธิสินทรัพย์ไทยราว -6 พันล้านบาทในวันก่อนหน้า

2) ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดชัดเจน ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างข้อมูลการจ้างงานที่ออกมาตามคาด หรือ ดีกว่าคาด และ 3) ตลาดคลายกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทำให้ราคาทองคำกลับเข้าสู่ช่วงการปรับฐาน (Correction) 

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วน โดยเฉพาะฝั่งผู้ส่งออกก็อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงเงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง

เช่น เงินบาทอ่อนค่าเหนือโซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ บรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียอาจยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบลดสถานะ Net Long บรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียได้ (มองสกุลเงินฝั่งเอเชียแข็งค่าขึ้น)

 

ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในคืนนี้ โดยเฉพาะในส่วนของรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย เพราะหากข้อมูลการจ้างงานออกมาน่าผิดหวังและแย่กว่าคาดชัดเจน

เช่น ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ต่ำกว่า 1 แสนตำแหน่ง ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด กดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงได้พอสมควร ส่วนราคาทองคำก็อาจปรับตัวขึ้นต่อและเงินบาทก็อาจแข็งค่าขึ้นได้พอสมควร ซึ่งจากสถิติย้อนหลัง 1 ปี พบว่า เงินบาทมักจะแกว่งตัวราว +/-0.4% ในช่วง 30 นาที หลังรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ

เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.00-33.30 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways  (กรอบการเคลื่อนไหว 33.08-33.25 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 33.20 บาทต่อดอลลาร์ ได้จริงตามที่เราประเมินไว้ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ  อย่าง ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการในเดือนกันยายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.9 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้แถวระดับ 51.7 จุด

ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทดังกล่าวก็อยู่ได้ไม่นานนัก และเงินบาทก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หากอิสราเอลเปิดฉากโจมตีกลับอิหร่าน (ไม่ว่าจะเป็นคลังน้ำมันอิหร่าน หรือ โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านก็ตาม)

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาศัยจังหวะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้าน (ดัชนีเงินดอลลาร์ หรือ DXY เข้าใกล้โซน 102 จุด) ในการทยอยปรับสถานะการถือครองหรือขายทำกำไรการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ในช่วงระยะสั้นที่ผ่านมา ก่อนที่จะทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์นี้

ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงกดดันบรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อย่าง ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการจะออกมาดีกว่าคาดก็ตาม ทั้งนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวยังคงหนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้น อาทิ Exxon Mobil +0.9% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.17%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.93% กดดันโดยความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าลดความเสี่ยงลง ทว่าความกังวลดังกล่าวยังคงหนุนให้หุ้นกลุ่มพลังงานและหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมการทหารปรับตัวขึ้นต่อได้ อาทิ Shell +1.7%, Rolls Royce +2.8%

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นทะลุแนวต้าน 3.80% ก่อนที่จะทรงตัวแถวระดับ 3.84% หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้ จากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางก็มีส่วนหนุนการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เช่นกัน

อนึ่ง เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจมีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้เพิ่มเติม โดยข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ออกมาตามคาด หรือดีกว่าคาด จะทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พร้อมที่จะปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ หากตลาดคลายกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

ในทางกลับกัน หากข้อมูลการจ้างงานออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงอาจกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก จนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มเติม กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงได้พอสมควร

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้น ตามรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการสหรัฐฯ ล่าสุด ที่ออกมาดีกว่าคาด ทยอยการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ก็ถูกจำกัด

โดยการทยอยขายทำกำไรหรือการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดก่อนที่จะรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานในวันศุกร์นี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 101.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.8-102.1 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ก็สามารถปรับตัวสูงขึ้นสู่โซน 2,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings)

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ที่จะทยอยออกมาให้ความเห็นในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงาน เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความคาดหวังอยู่บ้าง ว่า เฟดจะสามารถเร่งลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมที่เหลือของปีนี้ 

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและลุกลาม บานปลาย จนส่งผลกระทบในวงกว้างหรือไม่ โดยต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ความขัดแย้งดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง รวมถึงส่งผลกระทบต่อโฟลว์การขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มพลังงานมากน้อยเพียงใด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทอ่อนค่ามาปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.11-33.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.30 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ

แม้เงินบาทยังคงอ่อนค่าลงตามทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ซึ่งมีปัจจัยหนุนจากดัชนี ISM ภาคบริการของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาด (ไปที่ระดับ 54.9 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2566)

อย่างไรก็ดี กรอบการอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกทยอยได้รับอานิสงส์จากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง กรณีระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน ที่ยังอยู่ในภาวะตึงเตรียดต่อเนื่อง

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.00-33.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลกและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ  ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานเดือนก.ย.