รู้จัก “Lighthub Asset X WeLab”ผู้ท้าชิงบิ๊กเนมสู้ศึก“Virtual Bank”

03 ต.ค. 2567 | 23:34 น.

Lighthub Asset และ WeLab เป็นชื่อที่คนไทยคุ้นหูน้อยสุด ที่ปรากฎในกลุ่มผู้ยื่นการยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 5 ราย

Lighthub Asset และ  WeLab  คือใคร?  ทำไมถึงกล้าต่อกรกับกลุ่มบิ๊กเนมของไทย  ทั้งกลุ่ม Sea ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กลุ่มบีทีเอส เครือสหพัฒน์ และไปรษณีย์ไทย ,กลุ่มธนาคารกรุงไทย (KTB) ร่วมกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR)   ,กลุ่ม บริษัท เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) ร่วมกับพันธมิตร KakaoBank จากเกาหลีใต้ และ WeBank จากจีน    และบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ ผู้ให้บริการ e-wallet "ทรูมันนี่"   เพื่อให้บริการ  Virtual Bank

รู้จัก “Lighthub Asset X WeLab”ผู้ท้าชิงบิ๊กเนมสู้ศึก“Virtual Bank”

 ล่าสุดยังมีชื่อ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปรากฎขึ้นในฐานะที่ปรึกษาของกลุ่มดังกล่าว

 “ฐานเศรษฐกิจ”จะพาไปรู้จัก Lighthub Asset  และ  WeLab  มากขึ้น

  

“Lighthub Asset”   จดทะเบียนภายใต้ชื่อ บริษัทไลท์ฮับ แอสเซส จำกัด  (Lighthub Asset)   ก่อตั้งโดยนายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ร่วมกับ Lightnet Group  เพื่อให้บริการด้านฟินเทคครบวงจร   โดยนายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ เป็นนักธุรกิจชั้นนำของประเทศไทย และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง อิออน ธนสินทรัพย์และฟินันเซีย ไซรัส มีประสบการณ์กว่า 30 ปีในอุตสาหกรรมการเงินของไทยและต่างประเทศ อีกทั้งเป็นเจ้าของนิตยสารชื่อดังระดับโลกอย่าง Fortune Magazine

สำหรับ Lightnet Group บริษัทฟินเทคของไทยที่กลายเป็นบริษัทฟินเทคชั้นนำของโลก และเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินแห่งอนาคตเพื่อช่วยยกระดับการเข้าถึงและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเงินให้ลูกค้าทั่วโลก ทางกลุ่มบริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตการให้บริการทางการเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารกลางต่าง ๆ ในเอเชียและยุโรป

ทั้งนี้ Lightnet Group ได้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของลูกค้าหลากหลาย ผ่านธุรกรรมทางการเงินมูลค่ากว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี พร้อมให้บริการ Global Payment Solution ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินระหว่างประเทศ ดิจิทัลวอลเล็ท และบัญชี Virtual Bank รองรับหลากหลายสกุลเงินใน 150 ประเทศทั่วโลก ผ่านเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เช่น AI และ Blockchain  

 

“Lightnet Group” ยังเข้าไปร่วมลงทุนบริษัทในประเทศเป็นจำนวนมาก  สามารถเข้าถึงฐานลูกค้า Unserved และ Underserved ในประเทศไทยรวมกว่า 46 ล้านราย ทั้งกลุ่มเกษตรกรรม อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซ พร้อมทั้งช่องทางให้บริการกว่า 150,000 จุดทั่วประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้า”

รู้จัก “Lighthub Asset X WeLab”ผู้ท้าชิงบิ๊กเนมสู้ศึก“Virtual Bank”

ส่วน WeLab เป็นแพลตฟอร์มฟินเทคชั้นนำในเอเชียแปซิฟิก ที่มีผู้ใช้งานกว่า 65 ล้านรายและลูกค้าองค์กรมากกว่า 700 แห่ง ในฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ WeLab ได้เป็นหนึ่งในบริษัทด้านการเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ประกอบด้วย   บริการ Virtual Bank  2 แห่ง  ประกอบด้วย WeLab ฮ่องกง ที่มีอยู่เปิดบัญชีแล้ว 2 ล้านราย  จากประชากร 7 ล้านราย     และ Bank Saqu  ในอินโดนีเซีย ที่สร้างสถิติมีผู้เปิดบัญชีครบ 1 ล้านคนภายใน 6 เดือนหลังให้บริการ  

ทั้งนี้ นายหิรัญกฤษฎิ์ (ตฤบดี) อรุณานนท์ชัย กรรมการบริหาร Lighthub Asset และผู้ร่วมก่อตั้งและ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Lightnet Group   กล่าวว่า Lighthub Asset  วางแผนที่จะปฏิวัติวงการการเงินในประเทศไทยด้วยนวัตกรรมทางการเงินผ่านระบบ Virtual Bank   ที่มุ่งเน้นความรวดเร็ว ความเข้าถึงง่าย และความทันสมัย โดยมีเป้าหมายในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า Unserved และUnderserved ทั้งในกลุ่มรายย่อย และกลุ่ม MSME ที่มีความต้องการสินเชื่อรวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ทางกลุ่มฯ มีกลยุทธ์ Credit-led Strategy เพื่อสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบในทันที ผ่านเครื่องมือ AI จากนั้น จึงนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินที่ช่วยเพิ่มรายได้ แล้วจึงนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว

โดย  Lighthub Asset  และ  WeLab  ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ผู้ใช้บริการ   การเข้าถึงบริการทางการเงินที่รวดเร็ว เช่น การอนุมัติสินเชื่อและการเปิดบัญชีธนาคารในเวลาที่สั้นที่สุด เพื่อลดระยะเวลาที่ลูกค้าต้องใช้ในขั้นตอนต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นความสะดวกสบายและทันสมัย อีกทั้งยังได้รับใบอนุญาตทางการเงินมากกว่า 20 ใบในเอเชียและยุโรป ซึ่งแสดงถึงความพร้อมและความเข้าใจในการให้บริการที่ครอบคลุมทั้งตลาดประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา

Lighthub Asset   ยังเน้นสร้างระบบการเงินที่เปิดกว้างและไม่ผูกขาด โดยสนับสนุนการร่วมมือกับธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย ตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนและสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย

หากได้รับใบอนุญาต จากธนาคารแห่งประเทศไทย  Lighthub Asset  และ WeLab  พร้อมพัฒนาแพลตฟอร์ม  Virtual Bank   ให้บริการได้ภายใน 12 เดือน  โดยกลุ่ม Lighthub Asset  และ WeLab   เตรียมเม็ดเงินลงทุนไว้สูงกล่าวแบงก์ชาติกำหนด   โดยใน 5 ปี เตรียมเงินลงทุนไว้  500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ   หรือประมาณ  1.65 หมื่นล้านบาท    โดยเป้าหมายของกลุ่ม Lighthub Asset  ไม่เพียงแต่ในระดับประเทศ แต่ยังมุ่งสู่การทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเงินและเทคโนโลยีระดับโลก โดยตั้งใจจะนำเสนอรูปแบบธนาคารดิจิทัลที่ผสานเข้ากับตลาดการเงินโลกอย่างราบรื่น เพื่อมอบประสบการณ์การธนาคารระดับสากลให้แก่ผู้บริโภคชาวไทย   และต้องการเป็น 1 ใน 5  Virtual Bank ที่ดีสุดของโลก

นายหิรัญกฤษฎิ์ กล่าวต่อไปว่าผู้ยื่นขอไลเซ่น Virtual Bank ทุกรายมีจุดแข็งของตัวเองทั้งหมด ซึ่งมองว่าไม่ควรจำกัดใบอนุญาต 3 ราย   โดยยิ่งมีผู้ให้บริการมาก ทำให้เกิดการแข่งขัน   โดยสิ่งที่เราให้คือความใหม่   สิ่งที่เราให้ไม่ใช่โตโยต้า  แต่เป็นเทสล่าด้านการเงิน

ขณะที่นายไซมอน หลุง ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WeLab แพลตฟอร์มฟินเทคชั้นนำในเอเชียแปซิฟิก  กล่าวว่า ทางกลุ่มฯ มีเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีสินเชื่อล้ำสมัยผ่านระบบ AI และโซลูชัน Edge Computing ที่ได้รับสิทธิบัตร    โดย WeLab มีการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีที่เป็นผู้พัฒนา มากว่า 50 สิทธิบัตร   ทางกลุ่มฯ จึงพร้อมที่จะให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลแบงก์กิ้งระดับโลกในประเทศไทย เพื่อยกระดับเทคโนโลยีด้านการเงินในประเทศไทย และสร้างประสบการณ์ทางการเงินที่ดีและปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งานทุกราย

รู้จัก “Lighthub Asset X WeLab”ผู้ท้าชิงบิ๊กเนมสู้ศึก“Virtual Bank”

"การให้บริการ Virtual Bank ไม่ได้มีแค่เทคโนโลยี แต่ต้องมีประสบการณ์ให้บริการ WeLab  ได้ใบอนุญาต Virtual Bank ในฮ่องกงปี  2561  แต่ใช้เวลาพัฒนาระบบและเปิดให้บริการได้ใน 2563  โดยขณะนี้เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อออนไลน์อันดับหนึ่งในฮ่องกง  มีผู้เปิดบัญชี 2 ล้านราย  คาดว่าสามารถทำกำไรได้ในปีนี้     ขณะที่ Bank Saqu  ได้ไลเซ่นให้บริการ Virtual Bank  ในอินโดนีเซีย ปี 2565 สามารถเปิดให้บริการภายใน 6 เดือน   และ ที่สร้างสถิติมีผู้เปิดบัญชีครบ 1 ล้านคนภายใน 6 เดือนหลังให้บริการ"  

จาการตรวจสอบผ่าน  Creden Data พบว่า บริษัท ไลท์ฮับ แอสเสท จำกัด รายได้-กำไร ระหว่างปี 2562 - 2566 มีรายละเอียดดังนี้:

รายได้รวม

  • - ปี 2562: 107 บาท
  • - ปี 2563: 244 บาท
  • - ปี 2564: 105 บาท
  • - ปี 2565: 45 บาท
  • - ปี 2566: 173 บาท

กำไร (ขาดทุน) สุทธิ:

  • ปี 2562: ขาดทุน 19,803 บาท
  • ปี 2563: ขาดทุน 136,838 บาท
  • ปี 2564: ขาดทุน 884,674 บาท
  • ปี 2565: ขาดทุน 145,214 บาท
  • ปี 2566: ขาดทุน 18,182 บาท

ขณะที่บริษัท ไลท์เน็ท (ไทยแลนด์) จำกัด  ที่มีกรรมการ (3 คน)  1. นายชัชวาลย์ เจียรวนนท์    2. นายชวัล เจียรวนนท์  

และ 3. นายตฤบดี อรุณานนท์ชัย   และผู้มีอำนาจลงนาม คือ นายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ หรือ นายชวัล เจียรวนนท์ ลงลายมือชื่อ และประทับตราสำคัญของบริษัท นั้น  มีรายได้และกำไร มีรายละเอียดดังนี้:

รายได้รวม:

  • ปี 2562: 1,056,739 บาท
  • ปี 2563: 26,278,924 บาท
  • ปี 2564: 95,304,063 บาท
  • ปี 2565: 9,693,389 บาท
  • ปี 2566: 14,062,501 บาท

กำไร (ขาดทุน) สุทธิ:

  • ปี 2562: ขาดทุน 51,119,276 บาท
  • ปี 2563: ขาดทุน 45,032,429 บาท
  • ปี 2564: ขาดทุน 89,945,942 บาท
  • ปี 2565: ขาดทุน 57,480,473 บาท
  • ปี 2566: ขาดทุน 30,184,382 บาท