"ธัญญพงศ์" ชูจุดแข็งประสบการณ์ หวังไลเซนส์ Virtual Bank ต่อยอดธุรกิจ

05 ต.ค. 2567 | 06:50 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2567 | 08:41 น.

"ธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์" โชว์ศักยภาพ "แอสเซนด์มันนี่" ทำเต็มที่ หวังคว้าใบอนุญาต Virtual Bank เพิ่มโอกาสฐานลูกค้าหลักกลุ่มด้อยโอกาสทางการเงินเข้าถึงสินเชื่อ ชู Pay Next และ Pay Next Extra สัดส่วนลูกค้ากว่า 60-70% เป็นกลุ่มเข้าไม่ถึงสินเชื่อ

นายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด เปิดเผยว่า จากประเด็นการเข้าร่วมการยื่นขอใบอนุญาต (License) จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ของ แอสเซนด์ มันนี่ นั้น ก็จะทำอย่างสุดความสามารถและทำให้ออกมาดีที่สุด

แอสเซนด์ มันนี่ มองเห็นว่าเป้าหมายของ Virtual Bank ตรงกับเป้าหมายของทรูมันนี่ช่วยทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากยิ่งขึ้น บริษัทจะนำเอาประสบการณ์ที่มีมาใช้ เพราะที่ผ่านมาบริษัททำธุรกิจกลุ่ม UnderServe มาโดยตลอด จุดเริ่มจากให้กลุ่มนักศึกษาเติมเงินเกมได้ โดยนับจากวันนั้นมาบริษัทก็พัฒนารูปแบบการให้บริการเรื่อยๆ ทำให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น

ปัจจุบัน แอสเซนด์ มันนี่ มีฐานลูกค้าผู้ใช้งานทรูมันนี่แล้วกว่า 34 ล้านคน โดยจะเห็นว่าจากผลสำรวจลูกค้าของแอสเซนด์ มันนี่ ผ่านบริการ “Pay Next“ และ ”Pay Next Extra” สัดส่วนประมาณ 60-70% เป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ หรือโดนสถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อ (Reject) ซึ่ง Virtual Bank จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มได้

ขณะที่จุดประสงค์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชัดเจน คือ ต้องการให้ผู้ให้บริการที่ได้รับไลเซนส์ให้บริการในกลุ่มลูกค้าที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน โดยการเข้าไปหนึ่งในผู้ให้บริการ Virtual Bank ครั้งนี้ บริษัทก็ต่อยอดจากประสบการณ์จากทรูมันนี่ และแอสเซนด์ มันนี่ ได้

ทั้งนี้ มองว่าพอร์ตสินเชื่อโดยรวมยังสามารถเติบโตได้ จากปัจจุบันมียอดสินเชื่ออยู่ที่ราว 20,000 ล้านบาท ในส่วนของบริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ “Pay Next“ และ ”Pay Next Extra” ได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 2 ปี มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ระดับ 7.5% (ก่อนตัดหนี้สูญ Write-off) นับว่าอยู่ในระดับที่ไม่ได้สูงเกินไปเมื่อเทียบกับอุตสสาหกรรม

การที่หนี้เสียยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ดี หลักๆ เป็นผลมาจากบริษัทใช้ข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) ในการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อ โดยดูจากพฤติกรรมการใช้ทรู วอลเลต แทนการดูประวัติเครดิตบูโร ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยก็จะคิดตามกฎหมาย คือ สินเชื่อส่วนบุคคลหรือสินเชื่อดิจิทัลเพดานไม่เกิน 25% ต่อปี

สำหรับโมเดลการติดตามทวงถามหนี้ (Collection) นั้น บริษัทจะใช้ในส่วนของวิธีการดั้งเดิมผ่านตัวแทน (Agent) รวมถึงยังมีระบบดิจิทัล โดยหากลูกค้าที่มียอดค้างชำระก็จะมีระบบแจ้งเตือนบนแอปพลิเคชั่น

"เป้าหมายของ Virtual Bank ของ ธปท. ตรงกับเป้าหมายของทรูมันนี่ ที่ผ่านมาเราเปิดให้บริการมาแล้ว 8-9 ปี เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าเราช่วยทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน ตั้งแต่การชำระเงิน การให้สินเชื่อ ประกัน รวมถึงการลงทุน ได้มาก อีกทั้งด้วยฐานลูกค้ากว่า 34 ล้าน ผ่านบริการทั้ง Pay Next และ Pay Next Extra กว่าประมาณ 60-70% เป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ  ดังนั้นแล้ว Virtual Bank จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มได้มากยิ่งขึ้น"นายธัญญพงศ์ กล่าว