การเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง กดดันให้ค่าเงินสกุลต่างๆทั่วโลกล้วนอ่อนค่าลง รวมถึงค่าเงินบาทด้วย อย่างไรก็ตาม หากเทียบเงินบาทกับสกุลอื่นๆ แล้วพบว่า เงินบาทมีทั้งที่แข็งค่าและอ่อนค่าลง โดยหากเทียบกับดอลลาร์สรัฐ บาทอ่อนค่าลงถึง 12.3% แต่หากเทียบกับเงินเยนของญี่ปุ่น เงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 11.1%
นายปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ริช เคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์(1965)ภายใต้แบรนด์ “SuperRich สีส้ม” เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อน เพราะธุรกิจแลกเงินจะมีสต็อกเงินตราต่างประเทศ จึงมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ประกอบกับการยกเลิกโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายแล้ว กำหนดให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง
“โควิด-19 กลายเป็นโรคพื้นฐาน ทำให้คนบางส่วนถอดหน้ากาก หรือการเลิกทำงานที่บ้าน (WFH) การเดินทางและจับจ่ายใช้สอยในวงกว้างทั้งห้างสรรพสินค้าและสถานบันเทิง รวมถึงการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น เพราะหลายประเทศก็เปิดประเทศแล้วยกเว้นจีน แม้กระทั่งเครื่องบินมีการเสิร์ฟอาหารได้” นายปิยะกล่าว
ดังนั้นตั้งแต่เดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซันคาดว่า ปริมาณธุรกรรมมีแนวโน้มขยายตัวดี อาจจะมียอดซื้อเข้าเท่ากับเดือนกันยายนที่มีประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ต่อเนื่องถึงสิ้นปีนี้ ที่น่าจะแตะ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 70% ของช่วงก่อนโควิดในปี 2562 ที่อยู่ที่ 9.9 หมื่นล้านบาท แต่หากรวมยอดรับซื้อและขายปริมาณธุรกรรมสิ้นปีแตะ 100,000 ล้านบาท
สำหรับช่วง 9 เดือนที่ผ่าน ยอดรับซื้อเงินตราต่างประเทศเติบโตกว่า 378% (คำนวณจากล่าสุดเดือนกันยายน ปริมาณธุรกรรม 6,700 ล้านบาท จากเดือนมกราคมอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท) ขณะที่สกุลเงินยอดนิยมยังเกาะกลุ่ม 5 สกุลเงินได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน ดอลลาร์ไต้หวัน และดอลลาร์ออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบที่ต้องติดตามสถานการณ์คือ สภาวะสงครามและการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งเป็นผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจ แต่อาจกดดันเงินบาทให้แข็งค่าสวนทางค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจแลกเงิน
นายปิยะกล่าวต่อว่า ปัจจุบันธุรกิจแลกเงินไม่สามารถขายเงินตราต่างประเทศได้ดีเหมือนเมื่อก่อน เพราะสูญเสียตลาดให้กับเทรเวลการ์ดไป 30% เพราะเมื่อลูกค้ากลับมามีเงินเหลือสามารถเก็บไว้ในกระเป๋าตังค์เทรเวลได้
ดังนั้น แนวโน้มในอนาคตต้องพยายามปรับตัว โดยปัจจุบัน ซุปเปอร์ริชได้รับใบอนุญาต “โอนเงิน ชำระเงินผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์” Electronic Payment และใบอนุญาตประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนโอนเงินระหว่างประเทศ (Money Transfer Agent) แต่ติดปัญหาระบบไอที นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างยื่นขอใบอนุญาต “Wallet ในมือถือ” เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าต่างชาติสามารถใช้จ่ายในประเทศ โดยแลกซื้อสกุลเงินต่างประเทศเลือกเก็บไว้ใน “กระเป๋าเงินซุปเปอร์ริช” และเพื่อความปลอดภัยแล้วเราต้องการยกระดับการให้บริการเท่าทันนวัตกรรมโดยไม่มุ่งทำกำไร
นางสาวชนาพร พูนทรัพย์หิรัญ ผู้บริหาร บริษัท ทเวลฟ์ วิคตอรี่ เอ็กเช็น จำกัดกล่าวว่า ยอดปริมาณธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการที่บริษัทขยายการค้าระหว่างประเทศในปี 2564-2565 มากขึ้นทำให้มีฐานข้อมูลลูกค้าที่มั่นคงและมียอดสูงกว่าธุรกรรมปีก่อนๆ และก่อนโควิด โดยเห็นได้จากเดือนกันยายน ที่ยอดธุรกรรมเพิ่มเป็น 2,302 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65.01%จากช่วงเดียวกันของปี 2562 อยู่ที่ 1,395 ล้านบาท โดยปี 2564 ปริมาณธุรกรรมอยู่ที่ 394 ล้านบาทและปี 2563 อยู่ที่ 793 ล้านบาท
ส่วนลูกค้าบุคคลธรรมดาในเดือนกันยายนเริ่มทยอยกลับมาทำธุรกรรมมากขึ้นเกือบจะเป็นปกติ สำหรับแนวโน้มธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศช่วงที่เหลือในปีนี้ยังเติบโตดีต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าโดยมีปัจจัยบวกทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวและการส่งออกรวมถึงแรงงานที่ออกไปทำงานต่างประเทศ
ขณะที่ยอดธุรกรรมซื้อเงินตราต่างประเทศช่วง 9 เดือนปีนี้เพิ่มขึ้น 317.37% จากเดือนมกราคมอยู่ที่ 725 ล้านบาทและเดือนกันยายน ยอดธุรกรรมซื้อเพิ่มเป็น 2,302 ล้านบาท โดยสกุลเงินนิยมแลกซื้อ 10 สกุลเงินแรกคือ ดอลลาร์สหรัฐ ดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ริงกิต ยูโร รียัลซาอุดิอาระเบีย รูปี หยวน ดอลลาร์สิงคโปร์และ เรียลโอมาน
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,827 วันที่ 16 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2565