เป็นไปตามนัด หลัง คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด มีมติเอกฉันท์ ปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมเมื่อวันพุธ (2 พ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นไปตามแผนการสกัดภาวะเงินเฟ้อ ที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีของสหรัฐฯ
การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกันคราวนี้ นับเป็นระดับสูงที่สุดของสหรัฐฯ ในรอบกว่า 14 ปี หรือตั้งแต่เดือน ม.ค. 2551 เป็นต้นมา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
คล้อยหลัง เฟด ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกต่างทยอยปรับดอกเบี้ยให้ไปในทิศทางเดียวกัน เช่น ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 4.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี ขณะที่ ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ก็ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน โดยปรับขึ้น 0.25% ไปแตะที่ระดับ 2.75%
ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลดอกเบี้ยนโยบายหลายประเทศ ที่เป็นประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกจาก รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ล่าสุด พบว่า ดอกเบี้ยนโยบายของแต่ละประเทศ มีอัตราดอกเบี้ย ดังนี้
กลุ่มประเทศเอเชีย
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า หลังจากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่กำลังขยายตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงปลายปี ทั้งในแง่ของการท่องเที่ยว การใช้จ่ายของภาคเอกชน และการบริโภคของประชาชน
ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังดูข้อมูลทุกอย่างเพื่อตัดสินใจอย่างสมดุลเพื่อให้เกิดแรงส่งทางเศรษฐกิจต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจในช่วงปลายปีไปจนถึงต้นปีหน้า ซึ่งจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ก็เป็นการตัดสินใจของ ธปท.