สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินสถานการณ์ด้านภาวะการเงินไทย ปี 2565 ว่า ในช่วงปี 2565 ธนาคารกลางของหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลักดำเนินนโยบายการเงินในทิศทางเข้มงวดขึ้น
โดยการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วงในไตรมาสที่สองและไตรมาสที่สามของปี 2565 เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.25 - 0.50% ในไตรมาสแรกของปี 2565 เป็น 3.00 - 3.25% ในไตรมาสที่สามของปี 2565
รวมทั้งธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ อาทิ ธนาคารกลางแคนาดา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกระทบตลาดทุน
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เร็วและแรงของธนาคารกลางต่าง ๆ ทำให้ตลาดทุนเกิดความผันผวนเนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น โดยในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2565 ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของสหรัฐฯ ลดลง 7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ด้านดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของประเทศแคนาดา ลดลง 2.21% ออสเตรเลีย ลดลง 1.43% เกาหลีใต้ ลดลง 7.59% ฟิลิปปินส์ ลดลง 6.73% และเวียดนาม ลดลง 5.47%
บางประเทศมีโอกาสเศรษฐกิจถดถอย (Recession)
สำหรับสภาวะตลาดตราสารหนี้ พบว่า ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี และอายุ 2 ปี ของประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มลดลง สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของนักลงทุนในเชิงลบต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคต และอาจมีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในบางประเทศ
จับตาผลกระทบของประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2565 เพิ่มขึ้น 1.4% จากไตรมาสก่อนหน้า และภาวะตลาดตราสารหนี้ พบว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย
ขณะเดียวกันตลาดทุนไทยยังมีเงินทุนไหลเข้าจากการลงทุนนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่อง โดยในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของปี 2565 นักลงทุนต่างชาติมีสถานะซื้อสุทธิในหลักทรัพย์ไทยจำนวน 3,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจำนวน 797 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ
ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่กระทบหนัก
นอกจากนี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสำคัญ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ หลายแห่งมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยเช่นกัน
โดยนอกจากจะเพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อแล้ว ยังเพื่อลดแรงกดดันด้านการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยนและการไหลออกของเงินทุนจากช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความล่าช้าและนโยบายการเงินยังมีความจำเป็นในการสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศส่งผลให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีข้อจำกัด โดยประเทศที่มีช่องว่างอัตราดอกเบี้ยสูงจะมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น
นอกจากนี้ ประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเสถียรภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอ อาทิ ทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ หนี้ต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง รวมถึงขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในสัดส่วนที่สูงอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและการแข็งค่าของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ