เศรษฐกิจโลกปี 2566 มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น หลังจากเผชิญความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงขึ้น ราคาพลังงานปรับเพิ่มขึ้น และการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อชะลอเงินเฟ้อ
นายธวัชชัย วงศ์รัตนศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายจัดสรรสินทรัพย์และกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บางกอกแคปปิตอล จำกัด (BCAP) หรือ บีแคป เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ ในปีนี้คือ เงินเฟ้อ ซึ่งหลายคนประเมินเงินเฟ้อผิด แม้แต่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็ประเมินว่า เงินเฟ้อเป็นปัจจัยชั่วคราวในช่วงแรกๆ ซึ่งไม่ใช่เกิดจากความผิดพลาด เพราะช่วงต้นปีเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ได้คาดคิดว่า จะเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนขึ้น
เมื่อเกิดสงคราม จึงเกิดซัพพลายช็อค ซึ่งก็คือราคาน้ำมันและราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นจึงรวมเข้ามาในเงินเฟ้อรอบแรกและจังหวะที่สองอาจเป็นความผิดของเฟดนิดๆ ที่อาจจะประเมินค่าต่ำไปนิดหนึ่งว่า เงินในกระเป๋าของคนในอเมริกาที่ใส่เข้าไปในช่วงโควิด-19 เยอะขึ้นมากๆ ที่จะทำให้คนในอเมริกาไม่จำเป็นต้องรีบกลับมาหางานทำ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดประเทศ ความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คนต้องการจับจ่ายใช้สอยจากเงินในกระเป๋าที่เพิ่มขึ้น แม้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม ทำให้ภาคธุรกิจเร่งหาคนมาทำงาน ทำให้ค่าจ้างเพิ่มสูงขึ้น เป็นวงจรที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Wage price Spiral Inflation เป็นปัญหาด้านดีมานด์เข้าไปอีก จนทำให้เงินเฟ้อเร่งปรับตัวสูงขึ้น
“เฟดยอมแพ้ในช่วงปลายปีที่แล้วและเร่งขึ้นดอกเบี้ย และเร่งแรงขึ้นหลังจากเกิดสงครามรัสเซียยูเครนเป็น 0.75% จนทำให้คนคิดว่า ราคาสินทรัพย์ถูกกระทบ Bond Yeild เพิ่มสูงขึ้น คนจึงโยกเงินออกจากตัวหุ้นไปลงทุนในพันธบัตรเพราะมั่นคงกว่าและผันผวนไม่เท่า ขณะที่ดอกเบี้ยขึ้นยังเป็นต้นทุนที่ไปกดรายได้ของบริษัทให้มันหดลงด้วย”นายธวัชชัยกล่าว
ดังนั้นภาพการลงทุนในปีนี้ ไม่ค่อยดีทั้งหมดเลยทั้งหุ้น ทั้งบอนด์ ซึ่งเป็นปีที่ผิดปกติมากๆ ปกติเราจะรู้อยู่แล้วว่า หุ้นขึ้น บอนด์ก็อาจจะลง บอนด์ขึ้น หุ้นก็อาจจะลง มันช่วยป้องกันความเสี่ยงซึ่งกันและกันได้ แต่ปีนี้ไม่ช่วย สิ่งที่เคยมีความสัมพันธ์กันในอดีตมันแยกออกจากกันหมดเลย ทำให้ทุกสิ่งอย่างปรับตัวลงหมดทั้งหุ้นและบอนด์ และเป็นปีที่แย่ปีหนึ่งของการลงทุนทั่วโลก
หากจะพูดว่า แย่ขนาดไหน ยุคที่คนพูดกันเยอะๆ ก็คือเงินเฟ้อยุค 70 ตั้งแต่พอลล์ วอล์กเกอร์ ถ้าย้อนไปก็เกือบ 50 ปี ถ้าลงทั้งหุ้นและตราสารหนี้ก็ยังพอให้เห็นบ้างช่วงวิกฤต ไม่ว่าจะช่วงแฮมเบอร์เกอร์ หรือ ต้มยำกุ้ง แต่ที่ลงหนักๆ เลย เพราะเงินเฟ้อ เพราะการขึ้นดอกเบี้ยแรง อาจต้องย้อนกลับไปถึง 40 ปีที่แล้ว
ดังนั้น ถามว่าดอกเบี้ยที่เร่งสูงขึ้นจะไปสูงสุดเท่าไหร่และค้างอยู่นานแค่ไหน บีแคปมอง 3 ส่วนคือ ความเร่งของการขึ้นดอกเบี้ย คำถามที่สองที่เราถามตัวเองก็คือว่า แล้วมันจะไปสู่จุดสูงสุดเมื่อไหร่ ที่อัตราไหน และคำถามที่สามคือ มันจะไปค้างอยู่ในระบบนานมากน้อยขนาดไหน
ตอนนี้คำถามแรก ความเร่งของการขึ้นดอกเบี้ย หลายคนก็เริ่มไม่มีคำถามแล้ว จากที่เงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้วที่ 9.1% แล้วค่อยๆปรับตัวลง ฉะนั้นเฟดน่าจะค่อยๆลดการเร่งในการขึ้นดอกเบี้ยลง 0.75% ใน 4 ครั้งที่ผ่านมา ครั้งหน้าซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของปี อาจจะเห็น 0.50%
ต่อไปคนจะไปโฟกัสที่คำถามที่สองว่า มันจะขึ้นไปสูงสุดเมื่อไหร่ ตามที่เราประเมินน่า จะประมาณซักไตรมาส 2 และอาจจะขึ้นต่อได้อีก 1-1.5% และปีหน้าทั้งปี อาจจะเห็นเฟดกลับมาที่อัตราปกติคือ 0.25% ไปเรื่อยๆ ซึ่งที่ประเมินคือดอกเบี้ยเฟดจะไปสูงสุดที่ 5-5.5%
อย่างไรก็ตาม เดาว่าเงินเฟ้อที่จะลดจาก 6% ลงไปถึง 3% จะค่อนข้างหนืดและช้า ซึ่งก็น่าจะประมาณไตรมาส 2 ปีหน้า ตรงนั้นเฟดค่อยๆ ขึ้นดอกเบี้ยไปก็จะพอดีกันที่ 5-5.5% ซึ่งเงินเฟ้อก็จะลงมาชนะกันพอดีที่ระดับนั้น แต่สิ่งที่เรากลัวคือ ดอกเบี้ยจะค้างอยู่ในระบบนาน โดยทั้งปี 2566 เฟดอาจจะไม่ได้ปรับดอกเบี้ยลงเลย อาจจะสูงไปทั้งปี
ดังนั้นดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ทั้งปี 2566 จะยังกดดันภาพการลงทุนอยู่ อย่างน้อยที่สุดในแง่ของการอัพไซด์ ปีหน้าทั้งปีเราจะไม่เห็นการอัพไซด์ชัดเจนอย่างหุ้นอเมริกาคิดว่าระดับ 4000 จุดก็ถือว่า เข้าสมดุลแล้ว ขณะที่ Down side เองก็มีจำกัดคิดว่า 3600 จุด น่าจะรับข่าวร้ายไปเต็มที่แล้ว ดังนั้นหุ้นสหรัฐฯน่าจะวิ่งในกรอบ 3,600-4,000 จุด
ส่วนฝั่งยุโรปเองก็ยังกดดันเหมือนฝั่งอเมริกา แต่ถ้ามองในแง่ตัวการประเมินแล้วก็ดีกว่าฝั่งของอเมริกาตั้งเยอะ เพราะราคามันลงมาแรง การประเมินเราดู ที่ค่าพีอี ซึ่งพีอีของยุโรป ขณะนี้ติดลบประมาณ 2 standard evaluation ขณะที่อเมริกาที่เราเห็นว่าเค้าลงมาแล้ว ก็ยังสูงอยู่ ลบ 0.5 standard evaluation
แสดงว่า มันรับข่าวภาพที่เราเห็นไปเรียบร้อยแล้วว่าอเมริกาแข็งแกร่งมากๆในเรื่องของการจ้างงานเรื่องที่มีเงินอยู่ในมือคนเยอะ แต่ในยุโรปปัญหาเงินเฟ้อมันมาทางซัพพลายไซด์เรื่องต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย เศรษฐกิจไม่แข็งแกร่งเท่าอเมริกา เลยถูกทำโทษแรงมากกว่า
ปีหน้าจะเป็นปีการลงทุนค่อนข้างยาก อย่างอเมริกาก็ค่อนข้างตันแล้ว เศรษฐกิจจะเป็น divergent หรือถ้ามองเป็นอักษรคือตัว K ขาบนจะมีบางประเทศที่ดูแข็งแกร่ง อเมริกาอาจจะไม่กระทบนู่นนี่นั่น แต่ยุโรปยังมีความเสี่ยง
ขณะที่ตลาดอินโดจีนบางส่วนของประเทศก็ยังมีความเสี่ยงอยู่เช่น ประเทศที่กู้เงินเป็นดอลล่าร์ เมื่อดอลล่าร์แข็งค่า ก็ทำให้มูลหนี้สูงขึ้น และดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ก็ทำให้เขามีปัญหาในการยืดอายุการชำระหนี้
ดังนั้นความหวังที่จะทำให้ทั้งโลกไม่ถูกทุบลงไปในแง่ของวิกฤตหรือถดถอยแบบลึกๆ ก็คงจะอยู่ที่ประเทศจีน ซึ่งเท่าที่ติดตามดูข่าวแผนการเปิดประเทศของจีนที่หลุดออกออกมาเป็นระยะๆ เชื่อว่า จีนจะเปิดประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็น่าจะช่วย Sentiment การลงทุนได้ระดับหนึ่งและจะช่วยป้องกันความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยได้ระดับหนึ่งเช่นกัน เพราะคนเยอะ ดีมานด์เยอะ
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,843 วันที่ 11 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2565