วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ปี2567 บทเรียนที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัว และรับมือกับสถานการณ์ ที่อาจเกิดขึ้นในปี2568 ทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศและทั่วโลกผันผวน เหตุการณ์ไม่คาดฝัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์จีดีพี ปี 2568 โต 2.9% ซึ่งขยายตัวมาจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อยเท่านั้น ปมปัญหาใหญ่สิ่งที่ผู้ประกอบการเห็นตรงกันเมื่อปีที่ผ่านมา “ขายได้ แต่โอนไม่ได้” สะท้อน หนี้ครัวเรือน ตัวแปรสถาบันการเงินเข้มงวดสินเชื่อและปีนี้ก็เช่นกัน
เมื่อหันมองที่อยู่อาศัยรอการขายหรือสต๊อกยกยอด มาในปีนี้ ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ณ ไตรมาสที่ 3 ปี2567 กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลพบว่ามีหน่วยเหลือขายสูงถึง 215,800 หน่วย เพิ่มขึ้น 10.2% มูลค่า 1,313,487 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.3% โดยเพิ่มขึ้นทุกระดับราคาเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
คาดใช้เวลาในการขาย 49 เดือน ซึ่งมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% ที่มีการขยายเพดานราคาบ้านมือหนึ่งและมือสองไม่เกิน 7 ล้านบาท พบว่าทำให้กลุ่มระดับราคา ตํ่ากว่า 7.50 ล้านบาท ทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม มีทิศทางลดลง จึงเชื่อได้ว่ามาตรการดังกล่าวมีความจำเป็น
แต่ปัจจุบันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์สมัยรัฐบาลเศรษฐบางรายการได้หมดอายุลง อย่างมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ล่าสุด7สมาคมอสังหาฯเตรียมเสนอ มาตรการกระตุ้นอสังหาฯอีกระลอกเพื่อพยุงกำลังซื้อให้กลับมา
“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ 5 กูรูธุรกิจอสังหาฯ ถึง ข้อเสนอ เหตุผลความจำเป็น และทิศทางเศรษฐกิจ ของปีนี้ ต่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาภายในเดือนมกราคมนี้
ชง4ข้อกระตุ้นกำลังซื้อ
เริ่มจากนายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองมีความจำเป็น มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ต้นทุนต่างๆที่เกิดจากปัจจัยภายในและภายนอกไม่ลดลง ควรต้องมีมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาฯ อย่างต่อเนื่อง
สำหรับมาตรการเสนอ นายกรัฐมนตรี มี 4 ข้อ ได้แก่ 1.ขยายอายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนอง เหลือ 0.01% 2. สนับสนุนดอกเบี้ยตํ่าขอสินเชื่อง่ายขึ้นสำหรับคนที่พร้อม 3.ลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี2568 ลง 50% จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดี 4. ลดขนาดที่ดินจัดสรรให้ประชาชนมีโอกาสอยู่ในเมือง
ส่วนมาตรการอื่นอย่างรับสร้างบ้านลดหย่อนภาษี “ล้านละหมื่น” มาตรการ ยังไม่หมดอายุ ตลอดจน การแก้กฎหมายอาคารชุดต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ 75% รัฐบาลให้ศึกษาและรับฟังความคิดเห็นชั่งนํ้าหนัก ขณะ เช่าที่ดิน 99 ปี รัฐบาล มีนโยบายโครงการบ้านเพื่อคนไทยใช้กฎหมายทรัพย์อิงสิทธิ์ ที่ดำเนินการอยู่แล้ว
สำหรับมาตรการ LTV ( Loan to Value Ratio) หรือ อัตราส่วนที่ธนาคารสามารถให้สินเชื่อได้ เมื่อเทียบกับราคาบ้านที่ซื้อ ข้อนี้จะเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกครั้ง เพื่อพิจารณาทบทวนหรือยกเลิกชั่วคราว เพื่อให้ผู้ที่มีความจำเป็นซื้อบ้านหลังที่สอง อยู่ใกล้แหล่งงาน กู้ได้เต็ม100% เท่ากับบ้านหลังแรก
ลดภาษีที่ดินลง50%-ไม่ต่ออายุโอน-จดจำนอง อสังหาฯโคม่า!
สอดคล้องกับ นายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรระบุว่า ตลาดอสังหาฯยังมีปัจจัยเสี่ยง ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาฯ ต้องมีความต่อเนื่อง โดยเฉพาะ การขยายอายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ที่หวังว่าจะได้ต่ออายุออกไป หากไม่ดำเนินการต่อเชื่อว่าตลาดอสังหาฯจะโคม่ามากกว่าปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันสิ่งที่มองว่าจำเป็นและได้ผลักดัน ต่อเนื่อง คือการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงเหลือ 50% เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวหากเรียกเก็บเต็ม100% จะกระทบกับประชาชน และเกิดการค้างชำระภาษีตามมา
ปี67อสังหาฯตกต่ำสุด คาดฟื้นตัวดีปี69 จากมาตรการอัดฉีด
เช่นเดียวกับนายสุนทร สถาพร นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่าภายในเดือนมกราคมนี้ สมาคมฯ มีแผนเสนอ ต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ทั้งนี้มองว่าอสังหาฯ ปีที่ผ่านมาตกตํ่าที่สุดในรอบ 10 ปี และ ปี 2568 เริ่มฟื้นตัว คาดว่าปี 2569น่าจะฟื้นตัวกลับมายืนได้ตามปกติ จาก อานิสงส์ มาตรการรัฐบาลที่อัดฉีด ทั้งโครงการแก้หนี้คุณสู้เราช่วย ฯลฯ , มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าจากธอส. วงเงิน 1.2 แสนล้านบาทรวมถึงมาตรการใหม่ๆ ที่จะออกมา ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนและธุรกิจเอสเอ็มอี ลดภาระหนี้ลงและสามารถกลับมาขอสินเชื่อใหม่ได้
ดันต่อลดโอนและจดจำนอง-ผ่อนLTVคนจำเป็นบ้านหลัง2
ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่าสมาคมฯเสนอขยายอายุลดค่าธรรมเนียมการโอนฯและจดจำนองต่อเนื่อง รวมถึง ความต้องการอยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรน มาตรการ LTV ให้คนที่มีความจำเป็นซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่สองใกล้แหล่งงาน สถานศึกษาบุตรหลานกู้ได้ 100% เหมือนบ้านหลังแรก
เลิกLTVชั่วคราว -หนุนดอกเบี้ยต่ำปล่อยกู้
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า สมาคมฯ เตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ต่อ รัฐบาล ซึ่งประกอบด้วย ต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนอง , สถาบันการเงินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าและปล่อยสินเชื่อตามข้อเท็จจริง รวมถึงเสนอประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาทบทวนหรือยกเลิกLTV ชั่วคราว เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อให้เกิดการหมุนเวียนกลับมาได้
ทั้งนี้อสังหาฯเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญที่ทุกรัฐบาลใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ และเชื่อว่า ไม่มีใครอยากเห็นเครื่องยนต์ตัวดังกล่าวต้องดับวูบลง!!!
หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,060 วันที่ 9 - 11 มกราคม พ.ศ. 2568