นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า ในแง่ของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
แต่ปัจจัยจากความไม่แน่นอนจากผลกระทบจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์คู่ค้าต่างประเทศ จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจทั้งปีนี้เหลือโต 3.2%จาก 3.3% ปี2566อยู่ที่ 3.7% จาก 3.8% และ3.9%ในปี2567
ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยมีการกระจายตัวเพิ่มขึ้น
คาดว่าปลายปีนี้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวไปเทียบเท่าช่วงก่อนโควิด-19 ทั้ง แรงสนับสนุนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน
ที่ผ่านมาช่วง 2-3เดือน พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงกว่าที่ธปท.ประเมินไว้ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ย 50%
เทียบช่วงก่อนโควิด-19 และแนวโน้มจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียที่สวนทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
โดยเฉพาะสหรัฐและยูโรโซน ซึ่งจะเอื้อให้จำนวนนักท่องเที่ยวมาจากภูมิภาคเอเชียเดินทางเข้ามาในไทยและจะช่วยผยุงเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า
คาดว่าทั้งปีจะอยู่ 10.5ล้านคนจากเดิมคาด 9.5ล้านคน ปี2566จะขยับเป็น 22ล้านคนจาก 21ล้านคน และเพิ่มเป็น 31ล้านคนในปี2567
นอกจากนี้คาดว่าปลายปี2566 จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนจะเริ่มเข้ามาท่องเที่ยวในไทยและมีโอกาสจะอัพไซส์ได้ แม้ว่า สมมติฐานเกี่ยวกับนโยบายทางการจีนยังคลุมเครือและมีความไม่แน่นอนในการเปิดประเทศ"
อย่างไรก็ตาม ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นผลมาจากซัพพลายช็อก ทั้งจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ได้มีการปรับลดลง ทำให้เงินเฟ้อปรับลงสอดคล้องกัน โดยในปีนี้จะอยู่ที่ 6.3%
แต่ในปี 2566 ธปท.ปรับเพิ่มประมาณการเงินเฟ้อเป็น 3.0%จาก2.6% ส่วนหนึ่งมาจากการปรับค่าไฟฟ้า และต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้มีการส่งผ่านมายังผู้บริโภคมากขึ้น สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังเพิ่มจาก 7.3% เป็น 9.9% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้อยู่ที่ 2.6% และปีหน้าปรับจาก 2.4% เป็น 2.5%
หากดูการกระจายตัวของราคาในตระกร้าเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง และเงินเฟ้อในระยะปานกลางไม่ได้ปรับแบบมีนัยสำคัญยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบ จึงคาดว่าเงินเฟ้อจะสามารถกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% ได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ซึ่งคาดการณ์ใหม่จะชะลอไป1ไตรมาสจากเดิมคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่กรอบเป้าหมายในไตรมาสสอง
ดังนั้น จากแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง มองว่าการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.นับตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบันผ่านการปรับดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปยังเหมาะสม
มองไปข้างหน้ายังคงมีประเด็นติดตาม 2 ประเด็นหลัก คือ ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน และความเสี่ยงในประเทศทั้งนโยบายการดูแลราคาพลังงานและต้นทุนในประเทศ ซึ่งปัจจุบันนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไปยังคงเหมาะสม แต่หากมีปัจจัยเข้ามากระทบธปท.ก็พร้อมจะปรับนโยบายทั้งขนาดและเงื่อนเวลา
"ไตรมาสที่ 4 คาดว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีการฟื้นตัวกระจายตัวมากขึ้น ส่วนเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้วตั้งแต่ไตรมาส3 มีแนวโน้มลดลง ซึ่งจากเศรษฐกิจฟื้นตัวเราจึงทยอยถอนมาตรการ เช่น การลดเงินนำส่ง FIDF และมาตรการ LTV รวมถึงมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่ทยอยครบกำหนด ขณะที่ยังมีมาตรการที่จะช่วยดูและและประคองกลุ่มเปราะบาง"
ต่อข้อถามถึงการส่งผ่านนโยบายดอกเบี้ยนั้น นายปิติกล่าวว่า ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ได้มีการส่งผ่านไปยังดอกเบี้ย M Rate แล้วปกติจะมีการส่งผ่านประมาณ 60% ของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งการส่งผ่านมาไปยังผู้กู้จะแตกต่างกันในกลุ่มลูกค้า
เช่น ลูกค้าดอกเบี้ยรายย่อยที่จะรับต้นทุนสูงกว่า ในส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิตที่ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากพึ่งพาตลาดธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก โดยแตกต่างจากธุรกิจรายใหญ่ที่สามารถระดมทุนในตลาดหุ้นได้