เบี้ยประกัน ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ รีบเช็คก่อนยื่นแบบฯ

12 ม.ค. 2566 | 08:39 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2566 | 15:39 น.

“ฐานเศรษฐกิจ” รวบรวมเบี้ยประกันที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ผู้มีเงินได้รีบเช็คเลย ก่อนยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 31 มี.ค.66 นี้

เริ่มต้นปีใหม่ 2566 สิ่งหนึ่งที่ผู้มีเงินได้ต้องดำเนินการ คือ การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.91, ภ.ง.ด.95) ในปีภาษี 2565 ซึ่งสามารถเริ่มทำรายการได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.2566 โดยสามารถตรวจสอบเอกสาร และขั้นตอนการยื่นแบบได้

ยื่นภาษีออนไลน์ 2565 เริ่มวันไหน ใช้เอกสารอะไรบ้าง เช็คขั้นตอนที่นี่

 

อย่างไรก็ดี ผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะผู้ที่ซื้อประกัน หากต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในส่วนนี้ จะต้องทำความเข้าใจถึงค่าเบี้ยประกันที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ ซึ่ง “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รวบรวมค่าเบี้ยประกันที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ โดยแยกตามประเภทของเบี้ยประกัน ดังนี้

 

1. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป

  • ผู้มีเงินได้ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • คู่สมรส (ไม่มีเงินได้) ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท

 

โดยมีเงื่อนไขว่า

  • อายุกรมธรรม์ 10 ปีขึ้นไป
  • ทำประกันกับบริษัทประกันในประเทศไทย
  • ได้รับเงินคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันรายปี
  • ห้ามเวนคืนก่อนครบกำหนด

 

2. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

  • ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 20,000 บาท
  • ทั้งนี้ ค่าลดหย่อนที่ได้รับสิทธิเมื่อรวมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และ RMF แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

 

โดยมีเงื่อนไขว่า

  • อายุกรมธรรม์ 10 ปีขึ้นไป
  • ทำประกันกับบริษัทประกันในประเทศไทย
  • ต้องจ่ายผลประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ ช่วงอายุการจ่าย 55 - 85 ปีหรือมากกว่านั้น
  • ต้องจ่ายเบี้ยครบก่อนได้รับผลประโยชน์

 

3. เบี้ยประกันประกันสุขภาพ

  • ลดหย่อนไต้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท

 

โดยมีเงื่อนไขว่า

  • เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

 

4. เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา

  • ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

 

โดยเงื่อนไขว่า

  • บิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส ต้องมีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี