หวั่นเศรษฐกิจฟื้นตัวกระจุก ดันหนี้เสียพุ่งกลางปี

28 ม.ค. 2566 | 11:57 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2566 | 11:57 น.

ซีไอเอ็มบีไทยคาด แนวโน้มเอ็นพีแอลแบงก์ทรงตัว เหตุแบงก์ยังระมัดระวังปล่อยสินเชื่อ แม้ยังโตได้ 7% จับตากลางปี 66 หากเศรษฐกิจฟื้น แต่ไม่กระจายตัว อาจกดดันเอ็นพีแอลเพิ่ม

ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 10 แห่งรายงานผลประกอบการปี 2565 พบว่า สิ้นปี 2565 มียอดรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)กว่า 4.74 แสนล้านบาท ลดลงประมาณ 5.69%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่มีจำนวนกว่า 5.03 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เอ็นพีแอลปรับลดลงมีเพียง 3 แห่งเท่านั้นที่ปรับเพิ่มขึ้น

หวั่นเศรษฐกิจฟื้นตัวกระจุก ดันหนี้เสียพุ่งกลางปี ธนาคารพาณิชย์ที่มีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น คือ ธนาคาร เกียรตินาคินภัทร 1.26 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.23% จาก 9,761 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว,ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา 4.37 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้วและ แอลเอชเอฟจี 5,248 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.70% จาก 5,110 ล้านบาท

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์น่าจะทรงตัว เพราะแนวโน้มความต้องการสินเชื่อมีโอกาสจะเติบโตประมาณ 7% ใกล้เคียงกับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

ขณะที่ธนาคารยังค่อนข้างระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รายเล็ก เช่น พ่อค้าแม่ค้าหรือความกังวลสินเชื่ออเนกประสงค์/สินเชื่อไม่มีหลักประกันซึ่งไม่อยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

“แม้ว่าเวลานี้ จะมีสัญญาณจากเศรษฐกิจฟื้น แต่ยังกระจุกตัวเฉพาะภาคท่องเที่ยวและภาคบริการไม่กี่จังหวัด ขณะที่เอสเอ็มอีในเมืองรองยังคงเปราะบาง รวมถึงภาคเกษตรที่จะมีต้นทุนสูงขึ้นอาจนำไปการฉุดกำลังซื้อให้อ่อนแอลงได้”ดร.อมรเทพกล่าว

ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีความเป็นไปได้ที่จะลดลงช้า เนื่องจากเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ซึ่งอาจทำให้ราคาสินค้าขยับขึ้นและจะเห็นการส่งผ่านต้นทุนดอกเบี้ยอีกระลอก

ดังนั้นการที่อัตราเงินเฟ้อจะยืนอยู่ในระดับต่ำกว่าขอบบนที่ 3% อาจจะขยับจากไตรมาส 2  เป็นต้นไตรมาส 3 ซึ่งต้องจับตาถ้าเศรษฐกิจฟื้น แต่ไม่กระจายตัวอาจกดดันเอ็นพีแอลกลางปี แม้ปัจจุบันทุกธนาคารต่างให้น้ำหนักกับการดูแลลูกค้าทั้งระดับกลาง-ล่างในต่างจังหวัดอยู่แล้วก็ตาม

สำหรับซีไอเอ็มบีไทยยังเป็นห่วงภาคส่งออกของไทยสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มองการส่งออกชะลอตัว โดยเศรษฐกิจไทยฟื้นจากแรงส่งภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน

ทั้งนี้ ซีไอเอ็มบีไทยเตรียมปรับลดประมาณการส่งออกลงอีกครั้งจากเดิมมองส่งออกปีนี้จะติดลบ 1% โดยรอความชัดเจนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจจริงของไตรมาส 4 ปี 256 5ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566

อย่างไรก็ตามตลาดประเมินการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยิ่งไปซ้ำเติมกลุ่มเปราะบางให้มีความเสี่ยงมากขึ้นที่กลายเป็นเอ็นพีแอล ซึ่งนายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง.กล่าวว่า แนวโน้มการส่งผ่านต้นทุนดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์นั้นจะปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบาย (กนง.)

"ธนาคารพยายามจะดูแลลูกค้า เนื่องจากฐานะการเงินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น"

ทั้งนี้ ความคืบหน้าภายใต้มาตรการของธปท.ได้อนุมัติสินเชื่อใหม่รวม 345,549 ล้านบาท จำนวน 136,970 ราย โดยผ่านสินเชื่อฟื้นฟู 207,349 ล้านบาท ผู้ได้รับความช่วยเหลือกว่า 59,183 ราย เฉลี่ย 3.50 ล้านบาทต่อราย (ณ 16 มกราคม 2566) และ Soft Loan 138,200 ล้านบาท 77,787 ราย (ณ 12 เมษายน 2564) นอกจากนี้ในโครงการพักทรัพย์พักหนี้ได้รับความอนุมัติแล้ว 58,903 ล้านบาท 422 ราย

ส่วนการประชุมกนง. ครั้งแรกของปี 2566 เมื่อวันที่ 25 มกราคม กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นจาก 1.25% เป็น 1.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ซึ่งกนง.เห็นว่า การทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเป็นแนวทางดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

ระยะต่อไป กนง.ยังติดตามใกล้ชิด 3 ปัจจัยคือ

  1. แนวโน้มเศรษฐกิจโลก
  2. พัฒนาการของจำนวนนักท่องเที่ยวจีน จากที่คาดว่า ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาราว 11 ล้านคนปีหน้า 25 ล้านคน รวมถึงนโยบายอื่นๆ ที่จะเสริมหรือกระตุ้นหรือไม่ หลังการเปิดประเทศของจีนแล้ว
  3. สถานการณ์เงินเฟ้อในระยะต่อไป อาจส่งผ่านต้นทุนสู่ผู้ประกอบการ โดยมองอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์จะปรับสู่กรอบปลายปี 2566 แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน มีความเสี่ยงจะอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาด จากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น

“กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้”นายปิติกล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,857 วันที่ 29 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566