หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 4 ติดต่อกัน รวมแล้วปรับขึ้น 1% ต่อปี นับตั้งแต่การปรับครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งผลกระทบต่อกลุ่มหุ้นมีขึ้นทั้งกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ จากผลกระทบอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
รวมทั้งแนวโน้มจะยังปรับขึ้นอีก 2 ครั้งจากการประมาณการของนักวิเคราะห์ ผลกระทบที่ตามมาคงเลี่ยงไม่ได้ที่ธนาคารพาณิชย์จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยตามการประกาศ โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะนำร่องก่อนในทุกๆ ครั้งไป เรียกว่าปรับก่อนดอกเบี้ยเงินฝากเสมอ
ไฟแนนซ์ เช่าซื้อ ทะเบียนรถ รับผลกระทบ
ในวันนี้ ฐานเศรษฐกิจ จะพาไปส่องกลุ่มหุ้นที่จะได้รับผลกระทบ และหุ้นที่ควรลงทุนในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นโดยในหุ้นกลุ่มที่จะเสียประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น จะเป็นหุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์ ธุรกิจเช่าซื้อ จำนำทะเบียนรถ ซึ่งมาจากต้นทุนดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางการปรับดอกเบี้ยขาขึ้น ลูกค้าอาจจะชะลอการขอสินเชื่อ
อาทิ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) MTC ที่ได้รับผลกระทบจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้เช้าวันนี้ราคาปรับลดลง 0.25 บาท (-0.64%) อยู่ที่ระดับ 38.75 บาท โดยนักวิเคราะห์ให้ราคาสูงสุดที่ 57 บาทและต่ำสุดที่ราคา 30.50 บาท มีราคาเฉลี่ยที่ 43.09 บาท
รวมถึงผลกระทบต่อความสามารถในการใช้หนี้ ส่วนหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่จะได้รับผลกระทบด้านกำลังซื้อของประชาชนที่ชะลอตัวลง รวมทั้งหุ้นกลุ่มธุรกิจส่งออก เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย จะส่งผลต่อรายได้จากการขายสินค้าตามค่าเงินบาทที่แลกได้ลดลง
ธนาคารพาณิชย์ ได้รับอนิสงส์
ขณะที่หุ้นในกลุ่มธนาคารและประกันชีวิต จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่จะได้ประโยชน์โดยตรงจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของธุรกิจธนาคารพาณิชย์มาจากการปล่อยสินเชื่อ โดยทั่วไปแล้วดอกเบี้ยเงินกู้จะขึ้นเร็วกว่าเงินฝากเสมอ จึงมีโอกาสทำกำไรที่มากขึ้นในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น
รวมทั้งธุรกิจประกันชีวิตที่มีโอกาสทำกำไรได้สูงขึ้น จากการนำเบี้ยประกันไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนในสินทรัพย์ต่าง ๆ อาทิ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ซึ่งหากดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นผลตอบแทนจากการลงทุนจะสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าหุ้นทุกตัวในกลุ่มจะได้รับประโยชน์เท่ากันหมด นักลงทุนต้องเข้าไปศึกษาพอร์ตการลงทุน ในแต่ละบริษัทเพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุน
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส (ASPS) ให้มุมมอง (26 ม.ค.66) หุ้นที่ได้ประโยชน์จากประเด็นนี้มี 3 กลุ่ม
นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า หลังจาก กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1.50% ต่อปี จากปัจจัยสนับสนุนของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้น และเติบโตได้ต่อเนื่องจากแรงขับเคลื่อนของภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดี ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะช่วงครึ่งปีแรกจากราคาพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ทรงตัวในระดับสูงยังมีความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นได้จากการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการท่ามกลางภาวะต้นทุนที่สูงรอบด้าน ทำให้ กนง. มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไปต่อเนื่องเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
นักวิเคราะห์ SCB EIC มองว่าทิศทางการของอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าทาง กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องอีก 2 ครั้ง ขึ้นสู่ระดับ 2% ในปีนี้ โดยในการประชุมเดือนมีนาคม และเดือนพฤษภาคม 2566 อีกครั้งละ 0.25% และคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2% ตลอดปีนี้ เพื่อให้นโยบายการเงินปรับตัวค่อยเป็นค่อยไป กลับสู่ระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว