ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 10 แห่ง รายงานผลประกอบการปี 2565 พบว่า มีกำไรสุทธิรวม 200,662.82 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 17,729 .48 ล้านบาทหรือ 9.69% ตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นจากปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิรวม 182,933.2 ล้านบาท
ขณะที่ 9 ธนาคารพบว่า มีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 6.45 หมื่นล้านแตะ 5.97 แสนล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดโควิด-19โตพุ่งถึง 9.63 หมื่นล้านบาท นำโดย
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจว่า แนวโน้มธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2566 คาดว่า สินเชื่อจะเติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะได้ผ่านจุดที่แย่ที่สุดมาแล้วในไตรมาส 4 ปี 2565 แต่ธนาคารยังต้องระมัดระวังเรื่องคุณภาพหนี้
เนื่องจากยังมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางจาก Stage2 และให้น้ำหนักการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวและการตัดขายหนี้ที่ต้องทำต่อเนื่องในปี 2566 แม้ไตรมาส 4 เอ็นพีแอลจะทรงตัว
ผลประกอบการของธนาคารที่ออกมาในไตรมาส 4/65 สะท้อนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตตามการขยายตัวของสินเชื่อ โดยเฉพาะในพอร์ตที่ให้ผลตอบแทนสูงและการขยับดอกเบี้ยขึ้นหนุนให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ(NIM)ขยับขึ้น แต่ NIM ของธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 4 จะอยู่ที่ 2.88% สูงกว่าที่เคยมองไว้ที่ 2.85%
แนวโน้มดอกเบี้ยในระบบแบงก์จะขยับขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในรอบ 25 มกราคมนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ NIM ไตรมาส 1 ปีนี้ มีโอกาสขยับเกิน 3.05% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 2.95%
ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมติดลบ โดยเฉพาะความผันผวนในตลาดทุนฉุดธุรกิจหลักทรัพย์, ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (เวลธ์) ประกันผ่านธนาคารหรือกองทุนรวมและบางธนาคารเน้นการสำรองอย่างระมัดระวัง
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พาย จำกัดกล่าวว่า ปี 2565 ภาพรวมผลประกอบการธนาคารที่ออกมาพบว่า มีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสูงกว่าคาดในหลายธนาคาร เช่น BBL,KTB, KBANK, TISCO ซึ่งมีความกังวลจากปัจจัยภายนอกจากความไม่แน่นอนในอนาคต
โดยเฉพาะ KBANK ทั้งๆ ที่ได้รับอานิสงค์รายได้ดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในวันที่ 25 มกราคมและเดือนมีนาคม ทำให้ดอกเบี้ยในระบบต้องปรับขึ้นตาม ซึ่งจะป็นภาระต้นทุนต่อลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ประกอบการแนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมจะฟื้นตัวจากการเปิดเมือง
ขณะที่สำรองหนี้ยังเป็นประเด็นที่ทุกคนระมัดระวัง ทั้งจากปัจจัยต่างประเทศและมาตรการช่วยเหลือที่สิ้นสุดลงอาจจะมีเอ็นพีแอลบางส่วนเพิ่มขึ้น
“ความเสี่ยงแบงก์มี 2 เรื่องคือ ลูกค้าที่เคยปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว บางส่วนอาจชำระหนี้ล่าช้า บวกกับปัจจัยเศรษฐกิจโลก แต่หากมองเชิงบวกการเปิดประเทศของจีนจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา น่าจะเป็นผลดีต่อแบงก์และเศรษฐกิจไทยในปี 66 ส่วนการตั้งสำรองของแบงก์น่าจะทรงตัวทั้งปี 66 โดยไตรมาส 1 ปีนี้จะลดลงจากไตรมาส 4 ปี 65 แต่หากเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนอาจจะสูงขึ้น” นายธนเดช กล่าว
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล. โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ที่ออกมา กำไรสุทธิรวมต่ำกว่าตลาดคาด 25% และต่ำกว่าโนมูระคาด 23% ซึ่งเกิดจาก 2 ปัจจัยคือ 1.การตั้งสำรองของ 2 ธนาคารหลักๆคือ กสิกรไทยและเกียรตินาคินภัทร 2. การตีมูลค่าเงินลงทุนตามราคาปัจจุบัน
“ปี 2566 มองภาพรวมผลประกอบการกลุ่มแบงก์จะดีขึ้น โดยเฉพาะ กรุงเทพ กรุงไทย และทิสโก้ อาจจะฟื้นตัวก่อน ส่วนแนวโน้ม NIM ฐานจะกว้างมากกว่าไตรมาสต่อไตรมาสและรายได้ดอกเบี้ยมีโอกาสเติบโตตามการขยายตัวของสินเชื่อ"นายกรภัทรกล่าว
ส่วนแนวโน้มแนวโน้มปี 66 และ 67 มองว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตกว่าศักยภาพ 3.8% จากแรงหนุนการท่องเที่ยวและการบริโภคที่เร่งขึ้นและฐานการลงทุนที่จะฟื้นตัว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,856 วันที่ 26 - 28 มกราคม พ.ศ. 2566