ประเด็นปัญหาการล้มลงของ ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ หรือ Silicon Valley Bank (SVB) ทำให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะเรื่องของระบบการเงินโลก หลังจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐ หรือ Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) มีคำสั่งให้ปิดกิจการไปเมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา
รู้จัก Silicon Valley Bank
ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley Bank : SVB) ก่อตั้งในปี 1983 หรือ ปี 2526 ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ถือเป็นสถาบันการเงินใหญ่อันดับที่ 16 ของสหรัฐฯ ดำเนินกิจกรรมหลักคือ การปล่อยเงินกู้ให้กลุ่มธุรกิจ Start Up
ข้อมูลฐานะการเงินของธนาคาร ณ สิ้นเดือนธ.ค.2565 พบว่า SVB มีมูลค่าสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 209,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นเงินฝาก 175,400 ล้านดอลลาร์ และมีหนี้เสียหรือ NPL ไม่ถึง 1%
ต่อมาธนาคารได้ประสบปัญหาสภาพคล่อง หลังกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งต้องการประคับประคองกิจการตัวเอง ได้แห่ถอนเงินออกจากธนาคารอย่างกะทันหัน จนทำให้ธนาคาร ประสบปัญหาขาดกระแสเงินสดหมุนเวียนอย่างหนัก และแก้ปัญหาด้วยการขายพันธบัตรรัฐบาลที่ตัวเองถือจนขาดทุน แต่เพิ่มทุนไม่สำเร็จ ท้ายที่สุดจึงนำมาสู่การถูกหน่วยงานกำกับดูแลการเงินของสหรัฐฯ สั่งปิดกิจการ
สรุปไทม์ไลน์ ปัญหา Silicon Valley Bank
ปัญหาส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจาก ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ประกาศเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่ปัญหาที่ชัดเจนตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2566 ตามมาของบรรดาลูกค้า SVB กลุ่มที่เป็นสตาร์ทอัพ ซึ่งต้องการเงินทุนไปประคับประคองกิจการตัวเอง ได้แห่ถอนเงินออกจากธนาคารอย่างกะทันหัน จนทำให้ประสบปัญหาสภาพคล่อง โดยเฉพาะการขาดกระแสเงินสดหมุนเวียนอย่างหนัก
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ธนาคาร SVB จำเป็นต้องขายพันธบัตรรัฐบาลที่มีอยู่ในมือของตัวเองมูลค่าประมาณ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออกไปด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ในอัตราดอกเบี้ยประมาณ 1% เพื่อหาเงินสดมาคืนลูกค้าที่แห่ถอนเงินฝาก ในภาวะที่ดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้น
การขยายพันธบัตรภายใต้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปัจจุบันที่ประมาณ 3.9% ส่งผลให้ SVB ต้องประสบปัญหาขาดทุนไปประมาณ 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าในช่วงต่อมา SVB ประกาศแผนขายหุ้นแก่นักลงทุนวงเงิน 2.25 พันล้านดอลลาร์ในการระดมทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง แต่ก็ต้องล้มไปในที่สุด
สรุปเหตุการณ์ทั้งหมด จึงนำมาสู่การเข้ามาของ FDIC ได้มีคำสั่งปิดสำนักงานใหญ่ SVB เพื่อเข้าดูแลสินทรัพย์ของ SVB ต่อไป
ผลกระทบ SVB กับประเทศไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินสถานการณ์ในไทย ว่า ผลกระทบกรณี SVB ต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมีจำกัด เนื่องจากไม่มีธนาคารพาณิชย์ของไทยที่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB ขณะที่ปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไทยในธุรกิจ Fintech และ Startup ทั่วโลกมีน้อยกว่า 1% ของเงินกองทุนของกลุ่มธนาคารพาณิชย์
อีกอย่างคือ ธนาคารพาณิชย์ของไทย ไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล ส่วนกลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับต่ำที่ประมาณ 200 ล้านบาท
ส่วนผลกระทบต่อค่าเงินบาท ล่าสุดปรับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ภายหลังนักลงทุนประเมินว่า เหตุการณ์นี้จะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับอ่อนค่าลงเร็ว
อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินสหรัฐฯ จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดการเงินโลกและความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะถัดไป