ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566 แม้จะมีสัญญาณเชิงบวกดีขึ้น แต่ยังมีกลุ่มเปราะบางหรือผู้มีรายได้น้อยหรือรายได้ไม่แน่นอน ที่จะถูกซ้ำเติมจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะที่ภาระหนี้เดิมจะกลายเป็นหนี้เสีย ล่าสุดภาพรวมเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนหรือหนี้ครัวเรือนของไทย ในไตรมาส 4 ปี 2565 แม้สัดส่วนต่อจีดีพีจะลดลงจาก 87.0% ในไตรมาส 3 แต่ที่เป็นเม็ดเงินยังคงเพิ่มขึ้น 1.8 แสนล้านบาท โดยมียอดคงค้างที่ 15.09 ล้านล้านบาทจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 14.91 ล้านล้านบาท
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ออกมาแสดงความเป็นห่วงระดับหนี้ครัวเรือนที่ปรับขึ้นสูงและลดลงช้าจะเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ลำบาก ซึ่งแม้ว่า ขณะนี้้จะปรับลงจากเดิม 90% มาอยู่ที่ 87% แต่จะเห็นว่าลงช้า ซึ่งหากปล่อยให้ลดลงเองจะกระทบต่อการฟื้นตัว ซึ่งธปท.อยากเห็นหนี้ครัวเรือนไม่เกิน 80% ต่อจีดีพี
ดังนั้นธปท.จะออกมาตรการเพิ่มเติมเช่น การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) การปล่อยสินเชื่อตามความเสี่ยง (Risk Based Pricing) และนโยบาย Macroprudential ซึ่งภายในเดือนมิถุนายนนี้จะมีการฉายภาพในเรื่องของมาตรการให้ชัดเจนขึ้น
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC)ธนาคาร ไทยพาณิชย์เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หนี้ครัวเรือนไทยยังเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วในหลายประเทศ แม้ว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีในไตรมาส 4 ปี 2565 จะปรับลดลง แต่มูลค่ายังขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.7% จึงยังมีความสำคัญจำเป็นอย่างมากในระยะข้างหน้า
สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้นขึ้นอยู่กับ
“แก้หนี้ครัวเรือนไม่ง่าย อย่างแรกต้องมีกลไกทางนโยบายป้องกันความผันผวนของรายได้ เพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อถูกประเภทถูกราคา และสร้างรายได้ที่มั่นคง โดยต้องทำความเข้าใจโครงสร้างลักษณะของหนี้ครัวเรือน เพื่อให้เกิดการก่อหนี้ที่สร้างรายได้ในอนาคต”ดร.สมประวิณกล่าว
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า แนวโน้มหนี้ครัวเรือนไตรมาสแรกปีนี้ชะลอตัวในสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อภาครัฐ ทำให้ตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะขยับลงมาอยู่ที่ระดับ 85.5-85.8% จากไตรมาส 4 ปีที่แล้วอยู่ที่ 86.9%
สาเหตุหลักมาจากปัจจัยเชิงฤดูกาล ทั้งสินเชื่อรายย่อยและธุรกิจชำระคืนหนี้ แต่ภาพรวมทั้งปี 2566 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังอยู่ในระดับที่ไม่ยั่งยืนตามเป้าหมายของธปท. ซึ่งแนวโน้มทั้งปีเมื่อเศรษฐกิจเติบโตดีขึ้นมีโอกาสเห็นหนี้ครัวเรือนเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ
“หนี้ครัวเรือนไตรมาส 1 ปรับลดลง เพราะเป็นช่วงที่มีการชำระคืนหนี้ แต่ในระยะถัดไป เมื่อเศรษฐกิจเติบโต สินเชื่อรายย่อยมีโอกาสโตดีขึ้น ทำให้ปีนี้สัดส่วนของหนี้ครัวเรือนจะยังไม่ปรับลดลงในระดับที่ทางการมองไว้ที่ไม่เกิน 80% ต่อจีดีพี ซึ่งกลับไปสู่ระดับที่ยั่งยืน”นางสาวกาญจนากล่าว
อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 มูลหนี้รวม 3.38 ล้านล้าน แบ่งเป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ(แบงก์รัฐ) 1.49 ล้านล้านบาท 3.43 ล้านบัญชี และสถาบันการเงินและสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร(นอนแบงก์) 1.89ล้านล้านบาท 1.78 ล้านบัญชื
ทั้งนี้ยอดคงค้างดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากจากเดือนตุลาคม 2565 ที่มีมูลหนี้รวม 2.98 ล้านล้านบาท บัญชี 3.95ล้านบัญชี แบ่งเป็นแบงก์รัฐ 1.09 ล้านล้านบาท 2.36 ล้านบัญชี และสถาบันการเงินและนอนแบงก์อีก 1.89 ล้านล้านบาทจาก 1.58 ล้านบัญชี โดยยอดหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือคิดเป็น 12.2% ของสินเชื่อรวมระบบธนาคารพาณิชย์
ด้านนางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์กล่าวว่า กรุงศรี คอนซูมเมอร์มีส่วนร่วมในการแก้หนี้ครัวเรือน มาอย่างต่อเนื่องและมีแนวทางในการสนับสนุนการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน แบ่งเป็น 3 เรื่องคือ
“เกณฑ์การให้ความช่วยเหลือจะพิจารณาเป็นรายกรณี โดยมีการช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เช่น ลดยอดชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตจากเดิม 10% เหลือ 5% และสินเชื่อส่วนบุคคลจากเดิม 5% เหลือ 3% ส่วนลูกค้าบัตรเครดิตขยายเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 48 เดือนและสินเชื่อส่วนบุคคลขยายเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 99 เดือ และปรับโครงสร้างหนี้สำหรับบัญชีที่ค้างชำระหรือรวมหนี้”นางสาวณญาณีกล่าว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,885 วันที่ 7 - 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566