เวิลด์แบงก์มองเศรษฐกิจโลกปีนี้ดีขึ้น แต่ยังกังวลหนี้ประเทศกำลังพัฒนา

12 เม.ย. 2566 | 08:53 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2566 | 09:01 น.

เวิลด์แบงก์เผยตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2023 มีการปรับเพิ่มเล็กน้อยจากระดับ 1.7% ที่ประเมินไว้ในเดือนม.ค. เป็น 2% แต่ปัญหาหนี้ของประเทศกำลังพัฒนายังคงเป็นปัญหาที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น 

นายเดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า ทางธนาคารได้ปรับตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของ เศรษฐกิจโลก ประจำปี 2023 โดยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 1.7% ที่ประเมินไว้ในเดือนมกราคม 2566 ขึ้นเป็น 2% ในการประเมินล่าสุดเดือนเม.ย.นี้ แต่ชี้ว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจากปีที่แล้ว (2565) จะยิ่งทำให้ ปัญหาหนี้ ของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายหนักหน่วงมากขึ้น

เดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)

มัลพาสส์ ระบุระหว่างการแถลงข่าวเมื่อต้นสัปดาห์นี้ (10 เม.ย.) ว่า การปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกว่าน่าจะมีการขยายตัวมากขึ้นนี้ มีสาเหตุจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้นหลังยุติมาตรการล็อกดาวน์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกนี้ มีโอกาสขยายตัวถึง 5.1% ในปีนี้ (2566) เทียบกับตัวเลขประเมิน 4.3% ที่ธนาคารโลกระบุไว้ในรายงาน Global Economic Prospects ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ปัญหาหนี้ยังหนักหน่วง

อย่างไรก็ดี นายมัลพาสส์ ที่กำลังจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งประธานธนาคารโลกในเร็ว ๆ นี้ ได้เตือนว่า ปัญหาความวุ่นวายในธุรกิจธนาคารและราคาน้ำมันโลกที่พุ่งสูง อาจส่งแรงกดดันหนักให้กับทิศทางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2566

นอกจากนี้ ทั้งนายมัลพาสส์ และนางคริสตาลินา กอร์เกียวา ผู้อำนวยการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังแสดงความเห็นร่วมกันว่า ทิศทางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในระยะกลาง คือ ไม่ถึง 3% สำหรับปีนี้ และราว 3% ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ ตามการประเมินของ IMF จะเป็นปัญหาพอควรสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

ประธานธนาคารโลกระบุว่า ประเทศหนึ่ง ๆ ต้องมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูง เพื่อให้มีการสร้างงาน และเพื่อชะลอการเคลื่อนย้ายทางเศรษฐกิจจากประเทศยากจน พร้อมแสดงความกังวลว่า ภาวะเงินทุนไหลออกสุทธิจากประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ เป็นสิ่งที่ต้องมีการเร่งแก้ไขให้กลายมาเป็นการไหลเข้าสุทธิ เพื่อให้ระดับดอกเบี้ยของประเทศเหล่านั้น กลับคืนสู่สภาพปกติ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า โดยปกติแล้ว การคาดการณ์ของธนาคารโลกจะออกมาต่ำกว่าของ IMF เพราะมีการอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศด้วย ขณะที่ การคาดการณ์ของ IMF นั้นอ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (purchasing power parity exchange rate) หรืออัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง