ประเทศไทย ได้รับเลือกให้เป็น เจ้าภาพ จัด การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลก และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งเป็น การประชุมประจำปี 2569
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังจากการเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของ ธนาคารโลก (Development Committee Meeting) ครั้งที่ 107 ในห้วงของการประชุม Spring Meetings ของธนาคารโลก และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ระหว่างวันที่ 11 - 12 เมษายน 2566 ณ กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. สหรัฐอเมริกา ว่า
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 กระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือแสดงความสนใจในการเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีฯ ปี 2569 ให้กับธนาคารโลก ซึ่งมีประเทศที่แสดงความสนใจในการเป็นเจ้าภาพรวมทั้งสิ้น 10 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย และต่อมาในเดือนธันวาคม 2565 ธนาคารโลกไ ด้ส่งคณะสำรวจมาที่ประเทศไทยเพื่อสำรวจดูความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีฯ ณ กรุงเทพมหานคร
จากนั้น เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 ที่ประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและ IMF ได้มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีฯ ปี 2569 เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมในการจัดการประชุมในระดับโลกในทุก ๆ ด้าน ทั้งสถานที่จัดการประชุม โรงแรมที่พัก สิ่งอำนวยความสะดวก การคมนาคม สาธารณสุข และความปลอดภัย
โดยการประชุมประจำปีฯ ถือว่าเป็นการประชุมด้านเศรษฐกิจการเงินที่สำคัญที่สุดของโลก มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากประเทศสมาชิกของธนาคารโลกจำนวน 189 ประเทศ และผู้ว่าการธนาคารกลางจากประเทศสมาชิก IMF จำนวน 190 ประเทศ รวมทั้งผู้บริหารองค์กรและสถาบันการเงินระหว่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ
สำหรับ วัตถุประสงค์การประชุม เป็นการหารือร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกธนาคารโลก และ IMF เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ได้แก่
การประชุมประจำปีฯ มีกำหนดจัดในเดือนตุลาคมของทุกปี โดยในปี 2566 นี้ ราชอาณาจักรโมร็อกโก จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีฯ และในปี 2567 และ 2568 การประชุมประจำปีฯ จะจัดขึ้น ณ กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. สหรัฐอเมริกา และจะเวียนให้ประเทศสมาชิกเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทุก ๆ 3 ปี ตามธรรมเนียมปฏิบัติ
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีฯ ไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อปี 2534 ณ กรุงเทพมหานคร
สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีฯ ปี 2569 จะเป็นการแสดงบทบาทนำของประเทศไทย ในการสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจการเงินทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ส่งเสริมนโยบายและทิศทางการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ รวมทั้งเป็นการแสดงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศ
โดยในช่วงเวลาการประชุมดังกล่าว จะมีการประชุมคู่ขนานต่าง ๆ ที่สำคัญระหว่างประเทศสมาชิก กลุ่มประเทศ และสถาบันการเงินชั้นนำระหว่างประเทศ โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากทั่วโลกประมาณ 12,000 คน ซึ่งจะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องจากการประชุมดังกล่าว