แม้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของไทยในไตรมาส 4 ปี 2565 จะลดลงจาก 90.2% เหลือ 86.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยที่ยังสูงถึง 15.09 ล้านฟล้านบาทเพิ่มขึ้น 5.15 แสนล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 14.78 ล้านล้านบาท
นางสาวบุปผา ไชยพิณ นายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซด์ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 898,300 คันเพิ่มขึ้น 1.21 แสนคันหรือคิดเป็นการเติบโต 15.71% จากที่มีอยู่ 776,341 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่สัดส่วนลูกค้าที่ซื้อเงินสดเพิ่มเป็น 35% จากปกติอยู่ที่ 25% โดยราคาต่อคันเฉลี่ยรถไซซ์เอสอยู่ที่ 35,000 บาท (3ไซซ์คือ S,M ,L)
แม้ปีนี้ไม่ได้มีปัจจัยสนับสนุนมากนัก แต่ยอดจดทะเบียนรถมอเตอร์ไซด์ที่เพิ่มขึ้นมาจาก 2 ปัจจัยคือ ผลพวงจากภาคการท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและคนไทย รวมถึงภาคการเกษตรดีขึ้นทั้งผลผลิตและราคาพืชไร่ ซึ่งทั้งสองส่วนนี้เป็นฐานลูกค้าหลักของธุรกิจเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซด์ ซึ่งเป็นกำลังซื้อที่อั้นมาจากปีก่อน อีกทั้งช่วงเดียวกันปีก่อนยังไม่เปิดประเทศ
ส่วนแนวโน้มช่วงที่เหลือของปี ยังเป็นห่วงภาระหนี้ของลูกค้าปัจจุบัน แนวโน้มความต้องการสินเชื่อครึ่งปีหลังยังไม่เติบโตกว่าปีก่อน เพราะยังไม่เห็นปัจจัยบวกที่จะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ขณะเดียวกันต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตลอดและคาดว่า เดือนสิงหาคมปีนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก
“ที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับขึ้นต่อเนื่อง แต่ในแง่ผลตอบแทนของอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าค่อนข้างบางมาก ทำให้การทำธุรกิจจึงต้องระมัดระวัง ทั้งการติดตามทวงถามหนี้ ซึี่งสมาชิกทุกคนดำเนินการตามเกณฑ์และเพิ่มความถี่ในการติดตามลูกค้าที่ผิดนัดชำระ ซึ่งนอกจากติดตามลูกค้าสม่ำเสมอแล้วยังต้องระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อใหม่อย่างรัดกุม”นางสาวบุปผากล่าว
ทั้งนี้ภาพรวมที่เหลือยังไม่เห็นตัวแปรที่จะเป็นปัจจัยบวกแรงๆอย่างชัดเจนที่จะทำให้เกิดการเติบโตของการอำนวยสินเชื่อเพิ่มขึ้น นอกจากปัจจัยจำนวนนักท่องเที่ยว ขณะที่ยอดขายรถมอเตอร์ไซด์ทั้งปีจากที่ได้หารือทางสมาคมผู้ผลิตประเมินไว้ 1.8 แสนคัน ทรงตัวจากปีก่อน
“ไฟแนนซ์หรือผู้ประกอบการเช่าซื้อปีนี้เป็นปีที่ทุกคนต้องดูแลลูกค้าเก่าทั้งให้บริการหลังการขาย รวมถึงกระบวนการติดต่อลูกค้าและเก็บหนี้ให้ได้ และฐานลูกค้าใหม่ต้องเพิ่มความรัดกุม บริหารจัดการกระบวนการอนุมัติสินเชื่อ เพราะภาพเศรษฐกิจไม่เห็นปัจจัยบวก และลูกค้ายังมีภาระมากขึ้น แต่เงินเดือนหรือรายได้เท่าเดิม ที่สำคัญเราเป็นส่วนหนึ่งของเสถียรภาพก็ต้องไปในครรลองเดียวกับแบงก์ชาติไม่ให้ลูกค้าเป็นหนี้เกินความจำเป็น ซึ่งปีนี้ทุกคนประคองสถานการณ์ไม่อยากเพิ่มภาระให้ลูกค้า”
ในแง่การให้สินเชื่อภายใต้เกณฑ์กำกับดูแลเพดานดอกเบี้ยของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นั้น ผู้ประกอบการทั้งบริษัทลูกของธนาคารมีการปรับตัวที่รัดกุมเพื่อให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้า เช่น เพิ่มมาตรการคัดกรองลูกค้าหรือขอเพิ่มเงินดาวน์ในบางกลุ่มลูกค้า สมมติราคารถมอเตอร์ไซด์ 40,000 บาทต้องวางเงินดาวน์อย่างน้อย 10% หรือ 4,000 บาท ระยะเวลาผ่อน 3-4 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 23% จากก่อนหน้านี้ไม่มีเงินดาวน์ ถ้าลูกค้ามีบัตรประชาชน มีรายได้สม่ำเสมอ หรืออาชีพที่ตรวจสอบได้
ขณะที่สัญญาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สมาชิกทุกคนในสมาคมมีความเป็นห่วงคุณภาพลูกค้าทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ เพราะสัญญาณเอ็นพีแอลที่ยังมีแนวโน้มเพิ่ม บวกกับการบวมขึ้นของหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) และลูกค้ามอเตอร์ไซด์มีความอ่อนไหว เพราะรายได้รายวัน รวมถึงสิ่งแวดล้อมเช่น ฝนตก ฝนแล้ง ซึ่งกระทบกำลังซื้อลูกค้า
ส่วนแนวทางการอำนวยสินเชื่อจากที่พูดคุยกับสมาชิกของสมาคมฯ ในแง่การอนุมัติสินเชื่อ แบ่งลูกค้าเป็น 3 กลุ่มคือ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยอดสินเชื่อคงค้างในระบบยังไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ เพราะบางบริษัทไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่อนาคตบริษัทเช่าซื้อที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องเตรียมปรับตัว เมื่อร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 พ.ศ.... เพื่อกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์”
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,901 วันที่ 2 - 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2566