นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ที่ 15.09 ล้านล้านบาท ว่า ผ่านมารัฐบาลพยายามที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินมาตลาด และไม่ได้ส่งมอบสิ่งที่เป็นปัญหาให้กับรัฐบาลใหม่ เพราะสามารถเข้ามาสานต่อและทำงานต่อเนื่องไปได้
ทั้งนี้ยอมรับว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รัฐบาลต้องไปดูรายละเอียด เพราะส่วนหนึ่งเป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้นมามากในช่วงหลังปี 2562 เนื่องจากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเมื่อพิจารณาข้อมูลย้อนหลังยังพบว่า สถิติหนี้ครัวเรือนต่อ จีดีพี นั้นสูงเกินกว่า 80% ของจีดีพีมาตั้งแต่ปี 2556 – 2557 หรือกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
นายสุพัฒนพงษ์ ยืนยันว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีเป้าหมายในการทำงานว่าต้องการให้หนี้ครัวเรือนของประเทศนั้นต่ำกว่าระดับ 80% โดยหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 86.9% ของจีดีพีลดลงจากระดับ 90% ของจีดีพีในช่วงวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากเศรษฐกิจมีการขยายตัวดีขึ้นจากในช่วงโควิด-19 ที่เศรษฐกิจเคยหดตัว
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น ยอมรับว่า ต้องไปดูในรายละเอียดด้วยว่าหนี้จำนวนนี้เป็นหนี้ที่มีปัญหาหรือไม่ เพราะบางส่วนเป็นการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านหรือรถยนต์ การซื้อสินค้าเหล่านี้ของประชาชนเป็นเรื่องที่เป็นความจำเป็น แต่คำถามคือทำอย่างไรให้หนี้ครัวเรือนไม่เกิดปัญหา คือสามารถบริหารจัดการได้ ส่วนจะส่งผลต่อการใช้จ่ายและการบริโภคของประชาชนหรือไม่ ก็ต้องดูว่าลักษณะของการก่อหนี้นั้นเป็นอย่างไรด้วย
รองนายกฯ ระบุถึงกรณีนโยบายของรัฐบาลใหม่จะมีส่วนสร้างหนี้ครัวเรือนให้เพิ่มขึ้นหรือไม่ว่า ต้องให้รัฐบาลใหม่เข้ามาทำงานก่อน โดยที่ผ่านมารัฐบาลปัจจุบันพยายามที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะเรื่องการสร้างความเป็นธรรม เช่น การคิดอัตราดอกเบี้ยไม่ให้สูงจนเกิดไป มีการออกกฎหมายที่สำคัญเช่น พ.ร.บ.ทวงหนี้ ซึ่งกำหนดขั้นตอนการทวงหนี้ การคิดอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงเกินจริว และมีหน่วยงานกำกับดูแลเฉพาะ
ขณะที่หนี้กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์ครู ที่มีการปล่อยกู้ให้กับสมาชิก หรือไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ก็ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแล และมี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าไปให้การสนับสนุน เช่น สหกรณ์ครู ก็กำหนดว่าการหักเงินเพื่อชำระหนี้ต้องให้ผู้กู้มีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30% ไม่ใช่ตัดเงินจนหมด ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการ รัฐบาลก็มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นหน่วยงานหลักดูแล
ก่อนหน้านี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดตัวเลขหนี้สินครัวเรือนไตรมาสสี่ ปี 2565 พบว่า มีมูลค่า 15.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% ชะลอตัวจาก 4% ของไตรมาสที่ผ่านมา โดยความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนทรงตัว โดยสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 2.62% ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการชำระหนี้ยังมีความเสี่ยงในสินเชื่อรถยนต์ที่มีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (SMLs) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ยังมีมูลค่าสูงและมีบัญชีหนี้เสียเพิ่มขึ้น โดยหนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการเร่งรัดแก้ไขปัญหา