โควิดพ่นพิษ เจ้าหนี้แห่ ขายหนี้ 2.87 แสนล้าน

20 ส.ค. 2566 | 07:22 น.
อัพเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2566 | 07:22 น.

เครดิตบูโร จี้ธปท.ต่อมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ พุ่งเป้าลด 2.87 แสนล้าน เฉพาะรายที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ให้เหลือ 1 แสนล้านบาทในมิ.ย.67 ดันเป้าปรับโครงสร้างหนี้เกิน 1 ล้านล้าน จ่อยกเลิกติดรหัส 21 เดือนม.ค. 67

ช่วงปี 2564 บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร ได้เพิ่มรหัสสถานะบัญชีขึ้นมาใหม่คือ รหัสสถานะบัญชี 21 เพื่อรองรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จากเดิมที่มีสถานะบัญชี 20 สำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดา หรือ 020 สำหรับลูกค้านิติบุคคล ที่หมายถึงหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด  เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ในช่วงที่เหลือของปีนี้ มีโอกาสจะเห็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเกิน 1 ล้านล้านบาท ในไตรมาส 3 ก่อนจะปรับลดลงในไตรมาสที่ 4 เพราะสถาบันการเงินเจ้าหนี้ เร่งปรับโครงสร้างหนี้ก่อนจะหมดมาตรการของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด 

ทั้งนี้สิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท ขณะที่ลูกหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Stage2/SM) อยู่ที่ 4.75 แสนล้านบาท และลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ 9.8 แสนล้านบาท

“เรากังวลเรื่องช็อคที่อาจจะเกิดจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ จากที่มองว่า แนวโน้มการไหลเป็นหนี้เสีย จะไม่เป็น NPL Cliff เพราะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาและมีมาตรการระยะสั้น ขณะที่ช่วงปลายปีลูกหนี้มีโบนัสพอจ่ายหนี้”นายสุรพลกล่าว

สิ่งที่อยากเห็นคือ การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ได้เกิน 1 ล้านล้านบาทภายในเดือนมิ.ย.2567 จากตอนนี้ที่มีอยู่ 9.8 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19(รหัส21) มูลหนี้ 3.7 แสนล้านบาท (เป็นลูกหนี้แบงก์รัฐ 3.6 หมื่นล้าน) เพิ่มขึ้น 3.1 แสนล้านบาท ขณะที่จำนวนรายเพิ่มขึ้น 3 แสนคน จาก 3.1 ล้านคนเป็น 3.4 ล้านคนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

การโอนขายหนี้ตั้งแต่ปี 2563- ครึ่งแรกปี 2566

ดังนั้นจึงได้เสนอธปท.ต่อมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ “สีฟ้า” ในข้อ 1.คือ ลดภาระหนี้  โดยแขวนดอกเบี้ยค้างจ่ายไว้ก่อนเมื่อลูกหนี้จ่ายหนี้ได้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ จึงพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามเงื่อนไข เช่น ลดหนี้ 10-20% หรือ 50% และข้อ 6.คือ เจ้าหนี้เดิมสินเชื่อใหม่บนหลักประกันเดิม ถ้าลูกหนี้ทำตามสัญญาได้

“ส่วนตัวอยากให้จัดโปรแกรมการปรับโครงสร้างหนี้เป็นนาทีทอง โดยโฟกัสลดหนี้รหัส 21 ให้เหลือ 100,000 ล้านบาทในเดือนมิถุนายน 2567 หากลดหนี้รหัส 21 ลงได้ 2.87 แสนล้านบาท ก็จะดันยอดปรับโครงสร้างหนี้ได้เกิน 1 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกับที่มีอยู่แล้ว 9.8 แสนล้านบาท และน่าจะยกเลิกติดรหัส 21 ได้ในเดือนมกราคม 2567”

นอกจากนั้น ช่วง 3 ปีครึ่ง (ระหว่างปี 2563 ถึงครึ่งแรกของปี 2566) ยังพบว่า สถาบันการเงินเจ้าหนี้ ทั้งธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ นอนแบงก์ ธุรกิจเช่าซื้อและสถาบันอื่นๆ ได้ทยอยโอนขายหนี้ออกมาแล้ว จำนวน 287,257 ล้านบาท จากมูลหนี้รวม 2.9 แสนล้านบาทจำนวน 2.2 ล้านบัญชี

โดยเฉพาะครึ่งแรกของปี 2566 มีการโอนขายหนี้กว่า 69,220 ล้านบาท ซึ่งเมื่อพิจารณาไส้ในพบว่า ประเภทสินเชื่อที่มีการโอนขายส่วนใหญ่เป็นสินเชื่ออื่นๆ 27,946 ล้านบาท รองลงมาคือ สินเชื่อส่วนบุคคล 14,899 ล้านบาท สินเชื่อบ้าน 9,510 ล้านบาท, บัตรเครดิต 8,366 ล้านบาท สินเชื่อรถยนต์ 7,806 ล้านบาท

สำหรับยอดการโอนขายหนี้สิ้นปี 2565 มีปริมาณสูงกว่า 121,144 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบจาก 56,797 ล้านบาทในปี 2564 และสิ้นปี 2563 มีปริมาณโอนขายหนี้อยู่ที่ 40,092 ล้านบาท

“ปัจจุบันการขายหนี้พร้อมสัญญา/หลักประกัน ซึ่งหนี้ที่จะขายออกไตรมาส 3 เช่น เช่าซื้อมอเตอร์ไซด์ หนี้ธุรกิจ เช่าซื้อเครื่องจักร รถยนต์และแฟคตอริ่ง”นายสุรพล กล่าว

สำหรับทิศทางครึ่งปีหลัง 2566 มีแนวโน้มที่สถาบันการเงินจะเข้าตรวจประวัติลูกค้าเก่าหรือ Enquiry for Credit Review ไม่ต่ำกว่า 80 ล้านครั้งจาก 35 ล้านครั้งในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เพื่อดูว่า มีการจ่ายหนี้สะดุดในสินเชื่อใดบ้าง ส่วนการเข้าตรวจประวัติลูกค้าใหม่ (Enquiry for new Loan) ครึ่งปีแรกมีเพียง 19 ล้านครั้ง จากสิ้นปีก่อนมีการเข้าตรวจประวัติลูกหนี้ถี่และสูงถึง 46 ล้านครั้ง เนื่องจากสถาบันการเงินจะคัดกรองใบสมัครขอสินเชื่อของลูกค้าก่อน หากพบว่า รายได้หรือมีคุณสมบัติไม่เข้าหลักเกณฑ์ ก็ไม่จำต้องจ่ายค่าดูประวัติ

สำหรับลูกหนี้ที่อยู่ในฐานข้อมูลเครดิตบูโร 32 ล้านราย มีคนเข้ามาตรวจประวัติเครดิตตัวเองไม่ต่ำกว่า 1 ล้านราย ซึ่งแสดงว่า ยังขาดความรู้ความเข้าใจ ทั้งนี้หากเทียบที่เยอรมันคนเป็นหนี้ 100 คนจะเข้าตรวจประวัติเครดิตตัวเอง 30-40% เหมือนการตรวจสุขภาพครึ่งปีละ 2 ครั้ง

ขณะเดียวกัน ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร ยังเสนอแนวทางให้ลูกหนี้ แสดงหลักฐาน ทั้งรายได้ มูลหนี้ สถาบันการเงินเจ้าหนี้ การชำระหนี้ต่องวด ลงทะเบียนออนไลน์ เพื่อบันทึกข้อมูลให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ใช้เป็นข้อมูลนัดวันเวลา และ สถานที่เพื่อให้เจ้าหนี้ ,ตัวแทน และลูกหนี้สำหรับการพูดคุยกัน เหมือนการจัดประชุมเจ้าหนี้เหมือนในปี 2540

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 43 ฉบับที่ 3,914 วันที่ 17 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2566