ผ่อนไม่ไหว สัญญาณคืนรถพุ่ง หนี้ครัวเรือนกด

22 พ.ย. 2566 | 07:33 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2566 | 07:33 น.

นายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยชี้เทรนด์ปีหน้า คนไทยนิยมรถยนต์ EV เพิ่มขึ้น จับตา “ลูกค้าคืนรถ” สูงขึ้น เหตุผ่อนไม่ไหว หลังรายได้ “เกษตรกร” ยังซบเซา ห่วงหนี้ครัวเรือนกดดันสินเชื่อรถยนต์กลายเป็นหนี้เสียเพิ่ม

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 ปี 2566 พบว่า แม้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยจะลดลงมาที่ 86.3% ต่อจีดีพีจากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 86.4% ของจีดีพี แต่หากมองที่ยอดคงค้างยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 15.3 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 1.1 แสนล้านบาทจากไตรมาส 1 ที่มียอดคงค้างที่ 15.19 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตามในจำนวนหนี้ครัวเรือนดังกล่าว เป็นสินเชื่อเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 1.83 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2 หมื่นล้านบาท จากไตรมาสแรกปี 2566 ที่มียอดคงค้างทั้งสิ้น 1.81 ล้านล้านบาท

ผ่อนไม่ไหว สัญญาณคืนรถพุ่ง หนี้ครัวเรือนกด

นายศรัณย์ ทองธรรมชาติ นายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยคาดว่า ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2567 นั้น เศรษฐกิจไทยจะกลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทีละภาคส่วน โดยแบ่งเป็นรายได้ของ 4 ภาคส่วนที่มีส่วนสำคัญ และภาระหนี้ของครัวเรือน ที่จะส่งผลสะท้องถึงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ

นายศรัณย์ ทองธรรมชาติ นายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย

“ปีหน้า 2567 สมาคมฯ เห็นว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยดีกว่า ปี 2566 แน่นอน เนื่องจากการฟื้นตัวของทุกภาคส่วนและการอัดฉีดจากภาครัฐในการเร่งให้เศรษฐกิจมีสภาพคล่อง การใช้จ่ายสูงขึ้น แต่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ต้องขอดูตัวเลขสุดท้ายจากธปท.อีกครั้ง”

สำหรับปัจจัยบวกและปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อธุรกิจรถยนต์และเช่าซื้อปี 2567 นั้น อันดับแรกคือ รายได้ของประชากร ถ้าประชากร มีรายได้เพิ่มขึ้น มีความมั่นคงทางอาชีพจะเห็นการซื้อรถยนต์เพิ่มสูงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเศรษฐกิจซบเซา ภาระหนี้ที่มีอยู่มากยังคงรุมเร้า ก็อาจจะเลื่อนการซื้อรถออกไป

ดังนั้น เมื่อมองจากการขายรถในรอบปีที่ผ่านมา จะเห็นชัดว่า การจ้างงานสูงขึ้น ยอดขายรถยนต์ซีดานสูงขึ้น แต่ภาคเกษตรกร ราคาพืชผลทางการเกษตรไม่ค่อยดีนัก การซื้อรถกะบะ เพื่อการพาณิชย์จึงมีอัตราชะลอตัวลง

นอกจากนั้น ปัจจัยราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ปกติรถจะขายน้อยลง แต่ในรอบนี้ แม้ราคาน้ำมันสูงขึ้น แต่รถยังคงขายเท่าเดิม หรือซบเซาเพียงเล็กน้อย เนื่องจากประชาชนหันมาซื้อรถไฟฟ้าแทนรถน้ำมัน ดังนั้นภาพรวมรถยนต์ไม่ได้ขายรถลดลง แต่มาดูรายละเอียดรถ EV มีปริมาณขายสูงขึ้น ในสัดส่วนเดียวกันกับรถสันดาปที่มีจำนวนขายลดลง กรอปกับนโยภาครัฐที่สนับสนุนด้านภาษีการซื้อรถ EV ยังคงมีอายุสนับสนุนอยู่ ทำให้การซื้อรถ EV ยังคงสะดวกและมีราคาน่าซื้อ

ส่วนปัจจัยเสี่ยงหลักนั้น อยู่ที่ภาระหนี้ครัวเรือน ทำให้ประชาชนกังวลในการก่อหนี้ระยะยาว ขณะที่รายได้ (ภาคเกษตร) ยังคงซบเซาแต่คาดว่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้นเรื่อยๆในปี 2567 สอดคล้องกับการกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของปริมาณการค้าโลก

ต่อข้อถามสัญญาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) นั้น นายศรันย์กล่าวว่า ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากไตรมาสแรกปี 2566 ที่หนี้เอ็นพีแอลของสินเชื่อยานยนต์ขยายตัวเพิ่มสูงถึง  30.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสมาคมให้ความสำคัญในประเด็นหนี้ภาคครัวเรือนที่มีความเสี่ยงจะกลายเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์

สำหรับสถานการณ์รถยึด ในปีหน้า ยังคงทรงๆ แต่สัญญาณไม่ดีสำหรับอุตสาหกรรมเช่าซื้อจะกลับมาเป็นเรื่องการที่ผู้เช่าซื้อผ่อนไม่ไหว แล้วเอารถมาคืนสถาบันการเงินนั้น น่าจะมีสัดส่วนที่สูงขึ้น ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาทางสมาคมฯ ได้จับตามประเด็นนี้ รวมถึงความนิยมใช้รถยนต์ EV ของคนไทยมีเพิ่มขึ้น โดยภายในปี 2573 คาดการณ์ว่า สัดส่วนรถยนต์ EV ของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 34%

อย่างไรก็ตาม แม้การเพิ่มขึ้นของรถยนต์ EV จะส่งผลดีต่อ สิ่งแวดล้อม แต่รถยนต์ EV ที่เพิ่มขึ้นยังหมายถึง รถยนต์สันดาปจะถูกแทนที่ และเลิกใช้งานเป็นจำนวนมากด้วย ซึ่งสมาคมอยู่ระหว่างจัดเก็บข้อมูลเพื่อให้มีความชัดเจนก่อน

 

หน้า  13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,941 วันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566