ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน ณ ไตรมาส 3 ปี 2566 มียอดคงค้างทั้งสิ้น 16.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.9% ต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น 1.1 แสนล้านบาทจากไตรมาส 2 ที่มียอดคงค้างทั้งสิ้น 16.09 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.8% ต่อจีดีพี
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มหนี้ครัวเรือนไตรมาส 4 ปี 2566 คาดว่าจะขยับขึ้นอยู่ที่ประมาณ 91% ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีแนวโน้มจะขยับเพิ่มขึ้นด้วย จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ไม่กระจายตัว ทำให้รายได้ในกลุ่มเปราะบางยังไม่ฟื้นกลับมา โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่ธปท.เป็นห่วงคือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระ ที่มีรายได้ต่ำกว่าต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน
ดังนั้น ปีนี้ธปท.จะเข้าไปดูแลให้เจ้าหนี้ต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ “การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดผลในทางปฎิบัติได้จริงและกั้นไม่ให้หนี้ไหลไปเป็นหนี้เอ็นพีแอล และมั่นใจว่า แบงก์เจ้าหนี้ไม่ทิ้งลูกหนี้
“ไทยมีความเปราะบางในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้รายได้ไม่กลับมา เราจึงเข้มข้นให้เจ้าหนี้เข้าไปดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด โดยเราจะเข้มข้นแก้หนี้มากขึ้น ซึ่งเกณฑ์บังคับให้เจ้าหนี้เข้าไปแก้หนี้ให้ลูกหนี้และธปท.จะเข้าไปตรวจว่า เจ้าหนี้มีการเข้าไปช่วยลูกค้าจริงไหม”
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยอมรับว่า ยังมีคนที่เดือดร้อนอีกมากจากสภาพเศรษฐกิจตอนนี้ แม้คนที่มีรายได้ประจำอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมาก แต่ลูกจ้างหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระยังต้องการสภาพคล่องในระบบ โดยพบว่า มีลูกค้าทยอยเข้ามามากขึ้นเฉลี่ย 300-400 รายต่อเดือน บางเดือนมากกว่า 500 ราย จากเดิมมีมาแค่หลัก 10 รายหรือหลัก 100 รายต่อเดือนเท่านั้น
ทั้งนี้หลังจากธนาคารเข้าไปดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ทั้งการพูดคุย วางแผนปรับโครงสร้างการผ่อนชำระก่อนเป็นหนี้เสีย หรือเมื่อผ่อนไปสักพักลูกหนี้เริ่มไปต่อไม่ไหวก็กลับมาเจรจาปรับโครงสร้าง โดยที่ผ่านมาเราเสนอลูกค้าไปก่อนที่ลูกค้าจะร้องขอ และดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ทำให้ลูกค้ามีสภาพคล่องกลับมาเดินต่อได้ และแบงก์เองคาดว่า ปีนี้เอ็นพีแอลอั้นไว้ไม่เกิน 2.5%
“สัญญาณหนี้ทั้ง NPLs และ Stage2 นั้นผ่านมาหนึ่ง 1-2 เดือน เรายังคงดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ตามนโยบายที่ธปท.ให้เข้าไปปรับโครงสร้างก่อนจะเป็นหนี้เสีย ซึ่งก็ช่วยลูกค้าได้ ส่วนลูกค้าที่มีภาระหนี้ หากเริ่มผ่อนไม่ไหวสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหรือเราเสนอลูกค้าก่อนที่ลูกค้าจะร้องขอ เชื่อว่าช่วยทำให้รอดด้วยกันทั้งลูกค้าและธนาคาร”นายศักดิ์ชัยกล่าว
สำหรับเอ็นพีแอล ธนาคารทิสโก้จะเน้นบริหารจัดการเอง ไม่เคยขายลูกหนี้ เพราะความเข้าใจลูกค้าดี ดังนั้นขอสื่อสารให้ลูกค้าที่รู้สึกว่ามีปัญหาให้เข้ามาเจรจา อย่าหายไป เพราะธนาคารมีหลายโปรแกรมพร้อมอำนวยความสะดวกกับลูกค้าอยู่แล้ว
นายศักดิ์ชัยกล่าวถึงสัญญาณความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อต้นปี 2567 ว่า ช่วง 2-3เดือนปีนี้พบว่า ลูกค้ามีความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ ประเภทรถเก๋ง โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ดีมานด์มีมากขึ้น ลูกค้าซื้อเป็นคันที่ 2 และ 3 บ้างอาจจะเปลี่ยนคันเริ่มมาลองใช้รถ EV กัน ทำให้มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรถกระบะนั้น กำลังซื้อของประชาชนในเซ็กเม้นท์นี้ ยังค่อนข้างเปราะบางและอ่อนแอมาก ฉะนั้นสัญญาณกำลังซื้อยังมีน้อย ถ้าสังเกตุจากยอดขายรถยนต์ภาพรวมทั้งประเทศลดลง เช่น รถเก๋งลดลง 15% แต่รถกระบะติดลบหนัก (กว่า 10%) แสดงถึงการเติบโตอย่างไม่ทั่วถึงจริงๆ
สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ ผู้ประกอบการที่ทำเช่าซื้อ ยังมีความไม่แน่นอนเรื่องราคารถมือสองว่า ทิศทางจะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยที่สุด ราคารถมือสองของรถสันดาปภายในตกลงชัดเจนอยู่แล้วในรอบปีที่ก่อน แม้ว่าเดือนมกราคมปีนี้ ราคาจะดีขึ้นมาบ้างเล็กน้อย แต่ระยะยาวทุกประเทศที่มีการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ EV ราคารถมือสองจะตกลงอย่างช่วยไม่ได้ ทำให้ความเสี่ยงของระบบยังสูง
ส่วนการจำนำทะเบียน สำหรับคนมีรถแล้วนำมาแลกเงินนั้น ยอมรับว่า ดีมานด์ยังมีสูง แต่โอกาสลูกค้าจะผ่านเงื่อนไขสถาบันการเงินยอดอนุมัติน้อยลง เหมือนกับราคาบ้าน 1-3 ล้านบาท ยอดอนุมัติเหลือแค่ 40-50% เท่านั้น เพราะการพิสูจน์รายได้ที่ชัดเจนอ่อนตัวไป
“ลูกจ้างหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระยังต้องการสภาพคล่องในระบบ คิดว่า หน่วยงานของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ถ้าได้มาช่วยทำหน้าที่คุ้มครองความเสี่ยงเบื้องต้น จะทำให้สถาบันการเงินสามารถกระจายสินเชื่อสู่ฐานรากได้มากขึ้น โดยเฉพาะค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อมหรือรายจิ๋ว ซึ่งจะช่วยให้พ่อค้าร้านค้าหรือรถกระบะขายของเข้าสู่ระบบได้ดีขึ้น"
อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจแบบนี้คิดว่า คงยากที่จะปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้า 0-10% เนื่องจากทิสโก้ไม่ได้เป็นแบงก์ขนาดใหญ่หากเศรษฐกิจไม่เหมาะไม่เอื้อ ก็ต้องระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,968 วันที่ 22 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567