เครดิตบูโรแนะ ลดเงินนำส่ง FIDF 20 สตางค์

04 มี.ค. 2567 | 10:54 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2567 | 10:54 น.

เครดิตบูโรชี้ หนี้ครัวเรือนไทยสุกงอม หนี้เสียยังไม่ถูกฟ้อง 1 ล้านล้านบาท จ่อเสียอีก 6.1 แสนล้านบาท แถมจำนวนแก้หนี้พอๆกับหนี้เสีย แนะลดเงินนำส่ง FIDF นำส่วนที่เหลือไปลดดอกเบี้ยลูกหนี้ ไม่ต้องรอลดดอกเบี้ยนโยบาย

“อาการตอนนี้ คนที่เป็นหนี้เสียยังไม่ถูกฟ้องคดีประมาณ 1 ล้านล้านบาท คนกำลังจะเป็นหนี้เสียอีกกว่า 6.1 แสนล้านบาท คนที่เป็นหนี้เสียและปรับโครงสร้างแล้วราว 1 ล้านล้านบาทหรือรอปรับโครงสร้างใหม่ และคนที่ไปหมดทุกช่องแล้ว ถูกฟ้องและอยู่ระหว่างบังคับคดีอีก 1.2 ล้านคดีทุนทรัพย์ 3.68 แสนล้านบาท”

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB)หรือ เครดิตบูโร สะท้อนปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สุกงอมและอยู่ภายใต้ภาวะดอกเบี้ยที่ยังไม่ลดลง ภาระหนี้เพิ่ม กติกาทุกอย่างเป็นตามระเบียบสากลหมด ซึ่งปัญหาเหล่านี้สะท้อนว่า เราจะไหวไหม

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

นายสุรพล ขยายความเพิ่มว่า ทั้งหนี้ที่รอบังคับคดีที่ยังไม่พ้น 10 ปี  หนี้ที่กำลังบังคับคดีในกรมบังคับคดีและอยู่ระหว่างดำเนินการ จะเกี่ยวข้องกับลูกหนี้เป็นล้านคน จึงเป็นตัวสะท้อนว่า กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้หรือการไกล่เกลี่ยที่ผ่านมานั้น ไปต่อไม่ไหว ในที่สุดต้องยอมความกันที่ศาล

นอกจากนั้น ยังมีลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการ SME รายจิ๋วที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ประมาณ 6.67 แสนล้านบาท ทรงตัวที่ 10.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 7.11 แสนล้านบาท คิดเป็น 10.4%ของสินเชื่อรวม ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) 40,538 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จาก 38,452 ล้านบาท

ขณะที่ยอดหนี้ปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 6.38 หมื่นล้านบาทลดลง 4.0% จาก 6.65 หมื่นล้านบาท โดยมีปริมาณพอๆ กับหนี้เอ็นพีแอล ซึ่งเป็นการวิ่งเข้าวิ่งออกในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ โดยที่ SME กลุ่มนี้ไม่ได้รับสินเชื่อใหม่ โดยเห็นได้จากการเติบโตของสินเชื่อที่ติดลบหรือหดตัว 6.3%

นายสุรพล กล่าวถึงแนวทางแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนในระยะต่อไปว่า ส่วนตัวมองว่า อัตราดอกเบี้ยหน้างานหรือดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินเจ้าหนี้คิดกับลูกหนี้ลดลง โดยไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่ความน่าจะเป็นไปได้ น่าจะปรับลดเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เช่น ลดในอัตรา 0.20% เพื่อนำส่วนนี้ไปลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ โดยเน้นไปที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทหรือกลุ่มลูกหนี้ SM ที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ขยับขึ้น ซึ่งสถาบันการเงินมีฐานลูกหนี้กลุ่มนี้อยู่แล้ว

หนี้ครัวเรือนบนฐานข้อมูลเครดิตบูโร

“การปรับลดเงินนำส่ง FIDF ลง 20 สตางค์ โดยไม่ต้องลดดอกเบี้ยนโยบาย ก็เป็นอีกแนวทางที่น่าจะพิจารณา เพราะดูอย่างกรมส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ตัดสินใจจัดการกับดอกเบี้ยแท้จริงหน้ากระดาน โดยไม่รอลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่เป็นการลดดอกเบี้ยให้เหมาะกับคุณภาพลูกหนี้ โดยลดเหลือ 4.75% ต่อปี (บางแห่งเหลือเพียง 4.00% ต่อปี) พร้อมยืดเทอมการผ่อนชำระออกไปเป็น 300 งวดและขยายอายุผู้กู้ถึง 75 ปีจากเดิม 60 ปี เพื่อให้ยอดผ่อนต่องวดลดลงและให้ลูกหนี้หายใจได้ หรืออย่างน้อยมีชีวิตอยู่กับหนี้ได้

 ที่สำคัญ อาการที่สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยสินเชื่อใหม่และหาคนมากู้ยากนั้น เห็นได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา จากสถิติการเข้าดูข้อมูลลูกค้าเก่าลดวูบ เนื่องจากรายได้ไม่ผ่าน ซึ่งสถาบันการเงินจะตีตกไปตั้งแต่ผู้กู้รายได้ไม่ผ่านเกณฑ์ (การเข้าดูข้อมูลเครดิตบูโรจะมีค่าใช้จ่ายอีก 12 บาท) และอาการนี้ซึมต่อเนื่องเดือนมกราคม ที่มีคำขอสินเชื่อเหลือไม่เกิน 3 ล้านใบสมัครต่อเดือน จากปกติจะมีประมาณ 5 ล้านบาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม การกำกับดูแลหนี้ครัวเรือนตอนนี้ แม้กระทั่งในต่างประเทศ ก็ยังหาประเทศที่ประสบความสำเร็จไม่มี อย่างในสหรัฐ จะมีการกำกับดูแลโดยรัฐบาลจ่ายเงินให้กับนายจ้างเพื่อนำเงินก้อนนี้ไปจ่ายลูกจ้าง ซึ่งช่วงแรกพบว่า ลูกจ้างนำเงินไปจ่ายชำระหนี้เพื่อทำให้ประวัติทางการเงินไม่เสีย แต่พอเศรษฐกิจเปิด มาตรการดังกล่าวหมดไป กลับพบว่า สินเชื่อบัตรเครดิตในสหรัฐมีปัญหาทันที เนื่องจากรายได้ที่ไม่กระจายตัว

ขณะเดียวกัน คนที่เคยรับเงินเดือนสูงจะถูกเลิกจ้างเพื่อลดต้นทุนของบริษัทนายจ้าง ดังนั้น การจะแก้ไขปัญหาหนี้ได้ดีเศรษฐกิจจะต้องเติบโตและทำให้คนในประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ไม่ว่าเงินเดือนเพิ่มหรือเงินโบนัส เพราะนอกจากการใช้จ่ายในการดำรงชีพแล้ว จะต้องมีรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อนำมาโปะหนี้ แต่ตราบใดที่บรรยากาศดังกล่าวไม่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ยังคงกระท่อนกระแท่น

สำหรับฐานข้อมูลของเครดิตบูโรในอนาคตอันใกล้ เราอยากลงลึกในส่วนของบริษัทที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งขณะนี้เริ่มมีบริษัทติดต่อขอสมัครเป็นสมาชิกเครดิตบูโรแล้ว ประมาณไตรมาส 3-4 ปีนี้คาดว่า น่าจะได้เห็นฐานข้อมูลสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อีวี รวมทั้งยอดสินเชื่อ กลุ่มลูกค้า และคุณภาพสินเชื่อ

ขณะเดียวกันแผนการแก้ไขปัญหาลูกหนี้กลุ่มเรื้อรังที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายออกมาให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ดำเนินโครงการเพื่อหาทางปิดจบหนี้ภายใน 5 ปี ซึ่งธปท.กำหนดให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้รายงานหรือนำส่งลูกหนี้กลุ่มเรื้อรังเฉพาะที่เข้าโครงการเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลของเครดิตบูโร โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 ซึ่งน่าจะเห็นข้อมูลในไตรมาส 3 ปีนี้

“สิ่งเหล่านี้สะท้อนความพยายามของเครดิตบูโรในการสร้างฐานข้อมูลหรือ BIG DATA อย่างต่อเนื่อง” นายสุรพล กล่าวทิ้งท้าย

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,970 วันที่ 29 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2567