นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เพื่อเปิดให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลาย เข้ามาให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น
โดยเฉพาะผู้ใช้บริการรายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอหรือตรงความต้องการ สร้างประสบการณ์ในการใช้บริการทางการเงินที่ดีขึ้นแก่ผู้ใช้บริการ รวมทั้งช่วยกระตุ้นการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินไทยอย่างเหมาะสม โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน หรือเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของผู้ฝากเงินหรือผู้ใช้บริการในวงกว้าง
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถยื่นคำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank มายัง ธปท. ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2567 ถึง 19 กันยายน 2567 โดยสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการยื่นคำขออนุญาตได้ที่เว็บไซต์ ธปท. และ ธปท. จะจัดประชุมชี้แจงแก่ผู้ที่สนใจยื่นคำขออนุญาตในวันที่ 19 มีนาคม 2567 เพื่อชี้แจงรายละเอียดของประกาศกระทรวงการคลัง ตลอดจนหลักเกณฑ์การกำกับดูแล Virtual Bank ให้ผู้ที่สนใจยื่นคำขอได้รับทราบอย่างชัดเจน ครบถ้วน และเท่าเทียมกัน
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานประชุมชี้แจงดังกล่าวสามารถศึกษารายละเอียดและลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าได้ที่เว็บไซต์ ธปท. ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2567 คาดว่า จะสามารถประกาศรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2568
“ผู้ขออนุญาตที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว จะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ อาทิ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ภายใน 1 ปี”นายสมชายกล่าว
ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ Virtual Bank ที่สร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยได้อย่างยั่งยืนตามเป้าหมายข้างต้น ธปท. จะพิจารณาคำขออนุญาต โดยให้ความสำคัญกับคุณสมบัติ ศักยภาพ และความสามารถของผู้ขออนุญาตในการประกอบธุรกิจ Virtual Bank ตามรูปแบบและแผนที่เสนอมา คือ
นอกจากนี้ ธปท. จะคำนึงถึงการมีธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ที่มีศักยภาพและความสามารถในจำนวนที่เหมาะสมกับระบบสถาบันการเงินในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการแข่งขันเพื่อประโยชน์ต่อผู้ฝากเงิน ผู้ใช้บริการ และระบบเศรษฐกิจการเงินไทยโดยรวม โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ