ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดรับฟังความคิดเห็นถึงแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank มาตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม-12 กุมภาพันธ์ 2566 ล่าสุดกระทรวงการคลังประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 หลังจากได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567
ทั้งนี้ Virtual Bank จะเป็นธนาคารไร้สาขา ที่ผสานความเชี่ยวชาญ 3 ด้าน ได้แก่ ธนาคาร-เทคโนโลยีดิจิทัล-ข้อมูลวิเคราะห์พฤติกรรม เข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน เร่งเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและก้าวสู่ฮับการเงินอาเซียน โดยจะมุ่งเน้นให้บริการทางการเงินกับผู้ไม่มีรายได้ประจำและ SMEs กลุ่มที่ไม่ได้รับบริการการเงินอย่างเพียงพอ (Underserved) กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved) และกลุ่มเข้าไม่ถึงสินเชื่อและกลุ่มเป็นหนี้นอกระบบ
ธนาคารไร้สาขาจะกำกับโดย ธปท. เสมือนธนาคารพาณิชย์อื่น โดยอยู่ภายใต้การคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ธนาคารไร้สาขาจะไม่ใช้ระบบเงินฝาก ระบบสินเชื่อ Internet Banking ร่วมกับสถาบันการเงินอื่นทั้งในและต่างประเทศ โดยจะต้องตั้งสำนักงานใหญ่ในไทยและมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ในระยะแรก และไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ในระยะปกติ สามารถเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) เพื่อผสานความเชี่ยวชาญเฉพาะได้
กระทรวงการคลังจะเปิดให้มีธนาคารไร้สาขาแบบไม่จำกัดจำนวนใบอนุญาต จากเดิมที่จะจำกัดเพียง 3 ราย เนื่องจากต้องการเปิดกว้างให้กับผู้มีศักยภาพและผ่านคุณสมบัติ โดยให้ธปท.พิจารณาใบอนุญาตในจำนวนที่จะกระตุ้นการแข่งขัน และไม่เสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งกระทรวงการคลังและ ธปท.จะร่วมกันพิจารณาคำขออนุญาตภายใน 9 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดการยื่นคำขอ ต้องจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดและเปิดบริการใน 1 ปี
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า AIS ตกลงที่จะยื่นขอใบอนุญาตร่วมกับ GULF บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ ธนาคาร กรุงไทย
ด้านนางสาวมนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการร่วม บริษัท บริษัทแอสเซนด์ มันนี่ จำกัดผู้ให้บริการอีวอลเล็ต ภายใต้ชื่อ “ทรูมันนี่” กล่าวว่า บริษัทสนใจเปิดให้บริการเทคโนโลยีการเงินหลากหลายอยู่แล้วเช่นเดียวกับ Virtual Bank โดยขอศึกษารายละเอียดประกาศกระทรวงการคลังก่อน
ปัจจุบันบริการทรูมันนี่ ครอบคลุมการเงินดิจิทัลอย่างครบครัน ได้แก่ บริการสินเชื่อดิจิทัล บริการเงินฝากดิจิทัล และบริการลงทุนแบบดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์มการเงินที่ทำให้การเงินเป็นเรื่องง่าย ซึ่งช่วยให้ผู้มีรายได้น้อย ผู้ไม่มีงานประจำ รวมถึงคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้สามารถเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินได้โดยง่าย นอกจากนี้ แอสเซนด์ มันนี่ ยังมีบริการโอนเงินภายในประเทศและโอนเงินข้ามประเทศผ่านเครือข่ายตัวแทน
ด้านนายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY กล่าวว่ากลุ่มสบายสนใจลงทุนธุรกิจ Virtual Bank อย่างไรก็ตามขอศึกษารายละเอียดประกาศกระทรวงการคลังก่อน
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต(ทีทีบี)กล่าวว่า ทีทีบีกำลังเคลื่อนองค์กรไปสู่ ดิจิทัลแบงก์อยู่แล้ว จึงมองว่า Virtual Bank เป็นสิ่งที่ทีทีบีเป็นอยู่ แต่เชื่อว่า Virtual Bank ไม่ใช่คำตอบของลูกค้าในทุกกรณี Virtual Bank อาจจะเป็นประโยชน์บางอย่างกับบางคน เช่น ถ้าต้องการเป็นธนาคารช่วงใดช่วงหนึ่งคือ อยู่บนมือถือ ลูกค้าสามารถใช้บริการได้ 24ชั่วโมง
แต่ในหลายครั้ง ควรจะอยู่ในโลกจริง เพื่อจะตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการเจอหน้ากัน ดังนั้นการทำให้โลก Physical และ Virtual อยู่ร่วมกันและตอบโจทย์ที่ลูกค้า น่าจะอยากได้มากกว่า นั่นคือ ทิศทางที่ ทีทีบีอยากจะเป็นมากกว่า ซึ่งทีทีบีอยู่บนสองโลกและอยู่อย่างมีความหมาย ซึ่งในแง่การแข่งขันนั้น เราต้องทำมาก่อนหน้าแล้ว ไม่ใช่ปรับตัวตอนนี้และสิ่งที่จะต้องเพิ่มคือ ความลึกมากกว่า
นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดกล่าวว่า ประกาศหลักเกณฑ์สำหรับ Virtual Bank สอดคล้องกับทิศทางที่ธปท.สื่อสารไว้ก่อนหน้า แต่ไม่จำกัดจำนวนใบอนุญาต ส่วนใหญ่กติกาพื้นฐานที่สอดคล้องกับทั่วโลก ทั้งทุนจดทะเบียน ลูกค้าเป้าหมาย ไม่มีสาขาและเงื่อนไขให้เสนอแผนปิดกิจการ(Exit Plan) เมื่อไม่สามารถทำกำไรได้ตามระยะเวลาที่กำหนด โดยหลังจากนี้ต้องรอดูแนวปฎิบัติตามตามแผนธุรกิจ (Business Model)
อย่างไรก็ตาม ระยะแรกไม่น่าจะเห็นภาพการเปลี่ยนโฉม เพราะต้องรอช่วงตั้งไข่ ผู้เล่นเป็นใคร กลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่มหรือสแกนลูกค้าในวงกว้างเป็นการทั่วไปหรือไม่ แต่แน่นอน การแข่งขันที่เข้มข้นเพิ่มเติม เฉพาะเซ็กเม้นที่เห็นการแข่งขันหนาตา และการแข่งขันที่เข้มข้นคงจะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการทางการเงิน เงื่อนไขที่ดีขึ้น ซึ่งตรงกับเป้าหมายรัฐบาล แต่รูปแบบการทำ Virtual Bank ผู้เล่นต้องมีตลาดเฉพาะด้าน เฉพาะเซ็กเม้นมากขึ้น ดังนั้น ไม่ง่ายหากผู้เล่นใหม่ไม่ใช่แบรนด์ใหญ่ที่มีเครือข่าย ฐานลูกค้าครบและเติบโตในฐานลูกค้า
ส่วน Virtual Bank จะมีผล Disruption สถาบันการเงินหรือไม่นั้น มองว่าต้องใช้เวลา เพราะ Virtual Bank ต้องใช้ต้นทุนสูง หากไม่ใช่ผู้เล่นใหม่ที่มีต้นทุนดี มีความแข็งแกร่งในธุรกิจอื่นอยู่แล้ว เช่น กลุ่มสื่อสาร หรือกลุ่มรีเทล นำธุรกิจมาต่อยอดในธุรกิจทางการเงินเพื่อเติมเต็ม ไม่ได้เริ่มจากศูนย์
“รูปแบบธุรกิจยังต้องรอการพิสูจน์ ว่าผู้เล่นเป็นใครและจะร่วมทุนกับสถาบันการเงินอย่างไร สำหรับตัวอย่างในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จเช่น จีน หรือ เกาหลีใต้ (KAKAOBANK) และแอฟริกา ซึ่งเป็นกลุ่ม Under server ที่มีข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งVirtual Bank เติบโตได้ไว โจทย์ไม่ง่ายขึ้นอยู่กับผู้เล่น จะเริ่มจากเงินออมเฉพาะกลุ่มที่มีรูปแบบหลากหลายและจ่ายดอกเบี้ยเฉพาะหรือปล่อยสินเชื่อ” นางสาวธัญญลักษณ์กล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,972 วันที่ 7 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2567