"สวิตเซอร์แลนด์" ประเดิมลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% นำกระแสดอกเบี้ยโลกขาลง

22 มี.ค. 2567 | 10:30 น.
อัพเดตล่าสุด :22 มี.ค. 2567 | 11:39 น.

แบงก์ชาติสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.5% วานนี้ (21 มี.ค.) ถือเป็นธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วรายแรก ที่ประเดิมลดดอกเบี้ยหลังจากที่เฟดประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเมื่อวันพุธ (20 มี.ค.) แต่ส่งสัญญาณเริ่มลดดอกเบี้ยในปีนี้เช่นกัน

ธนาคารแห่งชาติสวิส (Swiss National Bank) นำร่องเป็นชาติแรกในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ประกาศ ลดดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อวันพฤหัสฯที่ผ่านมา (21 มี.ค.) โดยปรับลด 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.5% หลังจากที่ก่อนหน้านั้น 1 วัน ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (เฟด) ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% พร้อมส่งสัญญาณจะปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะเริ่มเมื่อไหร่

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งชาติสวิส หรือ SNB เผยว่า อัตราเงินเฟ้อของสวิตเซอร์แลนด์มีแนวโน้มจะคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 2% ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยหลายเดือนมาแล้วที่อัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ต่ำกว่า 2 % ซึ่งเป็นระดับที่สะท้อนเสถียรภาพของราคา นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะคงอยู่ในระดับนี้ไปอีกในระยะปีสองปีข้างหน้า

แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงชัดเจน 

แบงก์ชาติสวิสเผยว่า อัตราเงินเฟ้อยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนแตะระดับ 1.2% แล้ว

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ได้สำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์พบว่า ส่วนใหญ่คาดหมายว่า SNB จะตรึงดอกเบี้ยที่อัตรา 1.75% ดังนั้น การปรับลดดอกเบี้ยลงมาที่ระดับ 1.5% จึงเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย

SNB ยังปรับลดการคาดการณ์เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อประจำปีอีกด้วย โดยคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปีนี้ (2567) จะอยู่ที่ 1.4% ลดลงตัวเลขเดิม 1.9% ที่ประมาณการไว้ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังคาดว่า เงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 1.2% ในปี 2568 ลดจากตัวเลขประมาณการเดิม 1.6% ส่วนเงินเฟ้อปี 2569 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.1%

นักวิเคราะห์จาก Capital Economics คาดการณ์ว่า SNB จะปรับลดดอกเบี้ยอีกสองครั้งในปีนี้ “แบงก์ชาติมีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้น และอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าคาดการณ์” ทั้งนี้ เชื่อว่า เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำที่อัตราเฉลี่ย 1.2% ในปีนี้ และจะยิ่งลดลงไปอีกสู่ระดับต่ำกว่า 1.0% ในปีหน้า (2568) ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่า SNB จะปรับลดดอกเบี้ยอีกสองครั้งในเดือนกันยายนและธันวาคมตามลำดับ ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่อัตรา 1% และน่าจะคงอยู่ที่ระดับนี้ไปตลอดปี 2568 และ 2569

นายโทมัส จอร์แดน ประธานธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์

“เราจะรอดูในเดือนมิถุนายนว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปจากนี้หรือไม่ แรงกดดันเงินเฟ้อจะยังลดลงต่ออีกไหม จากนั้น เราถึงจะตัดสินใจ(ลดดอกเบี้ย)กันอีกครั้ง”

ข่าวระบุว่า การประชุมในเดือนกันยายนจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของ นายโทมัส จอร์แดน ในตำแหน่งประธาน SNB เนื่องจากเขากำลังจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในช่วงปลายเดือนกันยายน หลังจากที่อยู่ในตำแหน่งนี้มายาวนานถึง 12 ปี

แถลงการณ์ของ SNB หลังการประกาศลดดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ยังระบุถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ที่คาดว่าจะขยายตัวในระดับ “ปานกลาง” ไปอีกหลายไตรมาสข้างหน้า ทั้งนี้ คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวประมาณ 1% ในปีนี้

“สิ่งที่เป็นความเสี่ยงมากที่สุดคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แผ่วบางลงในต่างประเทศ พลวัตของตลาดอสังหาริมทรัพย์และการจดจำนองบ้านก็ลดลงเช่นกัน โดยเห็นได้ชัดในไม่กี่ไตรมาสที่ผ่านมา ความเปราะบางของตลาดจึงยังคงมีอยู่”

แถลงการณ์ SNB ยังระบุถึง ภาวะสงครามและการเผชิญหน้าทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ยังเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ และจะส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวม

ประธานแบงก์ชาติสวิสกล่าวในการให้สัมภาษณ์สำนักข่าว CNBC เมื่อเร็วๆนี้ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ SNB มีช่วงเวลาเบรกจากการขึ้นดอกเบี้ย และมีพื้นที่พอที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงมา แต่เขาก็ปฏิเสธที่จะสรุปว่าจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้

“เราจะรอดูในเดือนมิถุนายนว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปจากนี้หรือไม่ แรงกดดันเงินเฟ้อจะยังลดลงต่ออีกไหม จากนั้น เราถึงจะตัดสินใจกันอีกครั้งในเดือนมิถุนายน” จอร์แดนกล่าวด้วยว่า SNB พร้อมจะเข้าแทรกแซงตลาด “ถ้าจำเป็น” เพื่อป้องกันค่าเงินฟรังก์สวิสไม่ให้อ่อนยวบลงมากเกินไป เพราะโดยปกติอัตราดอกเบี้ยที่สูงจะทำให้ค่าเงินสูงตามไปด้วย และเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับลดลงมา ค่าเงินฟรังก์สวิสก็อ่อนลงมาเช่นกัน

แบงก์ชาติสวิสประเดิมลดดอกเบี้ยนำร่อง ขณะประเทศอื่นๆ จ่อลดดอกเบี้ยลงในปีนี้เช่นกัน

นายจอร์แดน ประธานแบงก์ชาติสวิส ไม่ได้ให้ความเห็นว่า ธนาคารกลางประเทศอื่นๆ จะปรับลดดอกเบี้ยตาม SNB และจะเริ่มใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงมาด้วยหรือไม่ แต่ส่งสัญญาณว่า เขาไม่กังวลหากแบงก์ชาติประเทศอื่นๆจะเริ่มเคลื่อนไหวตามซึ่งอาจทำให้ค่าเงินฟรังก์ต้องอ่อนตัวลง ทั้งนี้ เขามองว่า สวิตเซอร์แลนด์จะได้ประโยชน์มากหากทั่วโลกเกิดเสถียรภาพของราคา แน่นอนว่า ผลกระทบอาจเกิดขึ้นได้จากความต่างของดอกเบี้ยในแต่ละประเทศ แต่เขาก็มองว่า เสถียรภาพของราคาที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่างๆ รวมทั้งสวิตเซอร์แลนด์ด้วย

รอยเตอร์รายงานว่า สวิตเซอร์เป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วที่ปรับลดดอกเบี้ยลงมา หลังจากที่โลกตกอยู่ภายใต้แรงกดดันของเงินเฟ้อมาเป็นเวลานาน ทำให้บรรดาธนาคารกลางจำเป็นต้องคงดอกเบี้ยไว้ในอัตราสูงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ สถานการณ์ยังถูกซ้ำเติมด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกระทบหนักต่อการค้าโลก และยังมีสงครามรัสเซีย-ยูเครนเข้ามาอีก นอกจากนี้ ในส่วนของสวิตเซอร์แลนด์เอง ยังต้องเผชิญความปั่นป่วนในแวดวงธนาคารระยะหนึ่ง เมื่อธนาคารเก่าแก่อย่างเครดิต สวิส (Credit Suisse) ประสบปัญหาทางการเงิน จนทำให้รัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้ธนาคารยูบีเอส (UBS) ซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งในวงการธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์ เข้ามาซื้อกิจการเครดิต สวิสเมื่อปีที่ผ่านมา

ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ชี้ดอกเบี้ยขาลง

ไอดา วอลเด็น บาค ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศนอร์เวย์กล่าวเมื่อวันพฤหัสฯที่ผ่านมา (21 มี.ค.) ว่า นอร์เวย์ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่อัตราเดิมคือ 4.5% แต่ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่จะลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายนนี้ “เราอาจลดดอกเบี้ยในฤดูใบไม้ผลิ มีความเป็นไปได้มาก ว่าจะเป็นเดือนกันยายน เราจะตรึงดอกเบี้ยไว้ก่อนจะถึงช่วงเวลานั้น”

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ธนาคารกลางแห่งประเทศอังกฤษ (BoE) ประกาศคงดอกเบี้ยไว้ที่อัตราเดิม คือ 5.25% เช่นกัน ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงตรึงดอกเบี้ยไว้ที่อัตราเดิม แต่เจ้าหน้าที่ของ ECB ได้ส่งสัญญาณว่า จะพิจารณาเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นๆ

ส่วนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นั้น แม้จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งล่าสุด แต่ก็ส่งสัญญาณจะปรับลดดอกเบี้ยลงในปีนี้ เพียงแต่ยังไม่ระบุเวลา อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์คาดว่า เป็นไปได้ที่เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.นี้

โดยวาณิชธนกิจโกลด์แมน แซคส์ ออกรายงานระบุว่า นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด และคณะกรรมการเฟดส่วนใหญ่ ไม่มีแนวโน้มที่จะชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย คาดว่าเฟดมีแผนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้ในการประชุมเดือนมิ.ย. นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2567 โดยจะลดดอกเบี้ยลงในเดือนมิ.ย. ก.ย. และธ.ค.

สอดคล้องกับความเห็นของนายมาร์ก แซนดี หัวหน้านักวิเคราะห์ของ มูดี้ส์ อนาลิติกส์ และนายพอล แอชเวิร์ธ หัวหน้านักวิเคราะห์ของ แคปิตัล อิโคโนมิกส์ ที่คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิ.ย.นี้

ขณะที่นายมิเชล กาเพน นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร แบงก์ ออฟ อเมริกา คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้เช่นกัน