แก้หนี้บัตรกดเงินสดเรื้อรัง ลดภาระดอกเบี้ย ปิดจบเร็วขึ้น เริ่ม 1 เม.ย.67

24 มี.ค. 2567 | 02:34 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มี.ค. 2567 | 02:56 น.

สรุปเงื่อนไข แก้หนี้บัตรกดเงินสดเรื้อรัง ลดภาระดอกเบี้ย ช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มเปราะบาง ปิดจบเร็วขึ้น มาตรการใหม่ ธปท. เริ่ม 1 เม.ย. 2567

ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไปธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะเปิดมาตรการช่วยลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มเปราะบางที่เป็นหนี้บัตรกดเงินสดให้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น และลดภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น

ลูกหนี้บัตรกดเงินสดที่เข้าข่ายเรื้อรัง คือ ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียน (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล และบัตรเครดิต) ที่ไม่เป็น NPL และชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นที่ชำระมาทั้งหมดเป็นระยะเวลานาน  2 กลุ่ม ดังนี้

1. ลูกหนี้บัตรกดเงินสดที่เริ่มมีปัญหาหนี้เรื้อรัง คือ ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวม มาแล้ว 3 ปี แต่ไม่ถึง 5 ปี เจ้าหนี้จะแจ้งเตือนให้ทราบ เมื่อเริ่มมีสัญญาณหนี้เรื้อรัง ผ่านช่องทางที่ใช้ปกติ เช่น จดหมาย อีเมล SMS mobile application หรือ LINE Official Account

ลูกหนี้สามารถขอความช่วยเหลือได้ตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณหนี้เรื้อรัง ด้วยการปรึกษาเจ้าหนี้เพื่อหาทางจ่ายคืนหนี้เร็วขึ้นได้ โดยไม่ต้องรอให้จ่ายไม่ไหวหรือมองไม่เห็นทางปิดจบหนี้

หากเป็นหนี้เสียแล้วให้เร่งเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ หรือเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้

ช่องทางติดต่อเจ้าหนี้ คลิก

2. ลูกหนี้บัตรกดเงินสดที่เป็นหนี้เรื้อรัง หรือ ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมมาแล้ว 5 ปี และมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท สำหรับลูกหนี้สถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน หรือน้อยกว่า 10,000 บาท สำหรับลูกหนี้นอนแบงก์

ลูกหนี้จะได้รับการแจ้งเตือน และสมัครใจเข้าร่วมมาตรการปิดจบหนี้เรื้อรัง (opt-in) ด้วยการเปลี่ยนประเภทสินเชื่อเป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวด (installment loan) ให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่เกิน 15% ต่อปี โดยลูกหนี้จะต้องปิดวงเงินสินเชื่อที่เข้าร่วมมาตรการ เพื่อให้ปิดจบหนี้ภายใต้มาตรการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการรายงานประวัติข้อมูลเครดิตว่าได้เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวด้วย

ช่องทางติดต่อเจ้าหนี้ คลิก

ตัวอย่างการแก้หนี้เรื้อรังบัตรกดเงินสด

ลูกหนี้บัตรกดเงินสดควรรู้ก่อนเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง

  • ลูกหนี้จะได้รับสิทธิ 1 ครั้ง ต่อ 1 บัญชี หากมีมากกว่า 1 บัญชี สามารถเลือกเข้ามาตรการบางบัญชีได้
  • ลูกหนี้จะต้องปิดวงเงินสินเชื่อเดิม แต่เมื่อเข้าร่วมมาตรการแล้วอาจได้รับวงเงินเฉพาะกรณีฉุกเฉิน
  • ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการจะต้องรายงานประวัติข้อมูลเครดิต เช่น วันที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย