นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ต้องการผลักดันสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ระยะที่ 2 หรือ โครงการล้านละร้อย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน โดยเกษตรกรที่กู้ไปแล้วในเฟสแรกที่ต้องการขอกู้เพิ่มจะต้องเป็นกิจกรรมที่เพิ่มมูลค่า (Added Value) จากโครงการเดิมเท่านั้น โดยสามารถยื่นขอกู้ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 พฤศจิกายน 2568
ธ.ก.ส.ได้ดำเนินโครงการล้านละร้อย วงเงินสินเชื่อ 50,000 ล้านบาทมาแล้ว 4 ปี สามารถดำเนินการปล่อยสินเชื่อทั้งสิ้น 28,401 ล้านบาทคิดเป็นเกษตรกร 6,500 ราย วงเงินเฉลี่ยต่อราย 4.1 ล้านบาท มีการชำระคืนและปิดบัญชีไปจำนวนมาก ล่าสุดเหลือเพียง 800 รายมูลหนี้ 2,640 ล้านบาทและมีหนี้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพียง 0.8% เท่านั้น
ทั้งนี้โครงการล้านละร้อย เฟส 2 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบไปเมื่อปลายปี 2566 ภายใต้วงเงินเดิมที่เหลือประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยได้ขยายเงื่อนไขการปล่อยกู้เพิ่มเติมคือ สนับสนุนสินเชื่อพื่อการบริหารจัดการน้ำ การเกษตรยั่งยืนและตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model ภายใต้ SDGs และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ในอัตรา 0.01% ต่อปีในช่วง 3 ปีแรก จากนั้นตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป คิดดอกเบี้ยตามเกณฑ์ปกติของ ธ.ก.ส.
“ล้านละร้อยเฟส 2 เพิ่งเริ่มโครงการ ซึ่งปล่อยกู้ได้แล้ว 5,800 ล้านบาท เหลือวงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่่งนับว่าดอกเบี้ยถูกมาก ใครก็อยากได้ ทุกกลุ่มเกษตรกรจึงต้องการยื่นขอกู้ เพราะให้ยอดเงินกู้ 3-5 ล้านบาท บาทต่อราย สูงสุด 100 ล้านบาทต่อกลุ่ม เพื่อต้องการยกระดับชุมชนผ่านหัวขบวนเกษตรกร เพื่อนำเงินไปลงทุนการผลิต ทำให้เกษตรกร ที่อยู่ในเครือข่ายเข้ามาร่วมโครงการมากขึ้น ธ.ก.ส. จึงเดินหน้ายกระดับหัวขบวนในชุมชน ช่วยกันผลักดันการลงทุนในพื้นที่ให้มากขึ้น”นายพงษ์พันธ์กล่าว
ทั้งนี้ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนทั้งเงินทุนให้กับกลุ่มเกษตรกรหัวขบวน รวมถึงมูลค่าเพิ่ม (value added) เพราะผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมีความแตกต่างกัน ซึ่งในการเดินทางศึกษาดูงานที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ จึงได้นำเกษตรกรหัวขบวนร่วมศึกษาดูงานด้วยไม่ว่าจะเป็น I love flower farm, TEAMPHUM, วสช.บ้านตาติด, กาแฟลองเลย,The FIG Nature Garden, ไร่ภูตะวันออร์กานิค ฟาร์ม, พีเจ ริช อินเตอร์กรุ๊ป,ชุมชนบ้านนาต้นจั่น, NPP Orchid และชุมชนบ้านไหนหนัง
นางสาวนภัสวรรณ เมณะสินธุ์ วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตดอกเบญจมาศ บ้านตาติด จุดผลิตไม้ดอกไม้ประดับแหล่งสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี 1 ใน 10 เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ร่วมเดินทางศึกษาดูงานกับธ.ก.ส.ในครั้งนี้กล่าวว่า ได้ไอเดียดีๆ จากการดูงาน โดยเฉพาะในอุทยาน เคอเคนฮอฟ ว่า จะนำไปพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างไร ทั้งลักษณะการจัดส่วน รูปแบบการจัดซุ้มที่สามารถนำไปปรับใช้ได้
อีกส่วนคือ WORLD HORI CENTER ซึ่งเป็นศูนย์เรือนกระจกที่จะนำไปปรับเขียนโครงการเพื่อทุนวิจัยสนับสนุน เพื่อมาทดลองเป็นและแก้ปัญหาให้กับกลุ่มวิสาหกิจดอกไม้ เพราะปัจจุบันแม้ทางกลุ่มจะเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยงเที่ยว แต่ยังไม่เต็มรูปแบบ เพราะเบญจมาสหน้าร้อนจะปลูกได้ไม่เต็มเหมือนหน้าหนาว ซึ่งมี 7 สี ขาว แดง เหลือง ม่วง ส้ม ชมพู เขียว ซึ่งจะจัดรูปแบบได้สวย แต่ถ้านอกฤดู อย่างหน้าร้อน จะปลูกได้เพียงสีเหลืองสีเดียว
“กลุ่มวิสาหกิจเรากู้ทั้งล้านละร้อยจากรัฐบาลและล้านละร้อยจากชุมชนสร้างไทย โดยโครงการรัฐกู้มา 4.6 ล้านบาท เพื่อมาซื้อวัสดุโรงเรือนให้กับสมาชิกเพิ่มโครงเรือน ซึ่งโรงเรือนสำคัญในการผลิตนอกฤดู เพราะถ้าโรงเรือนน้อย พื้นที่ปลูกก็น้อย ทำให้การผลิตเพื่อจำหน่ายไม่พอเพียง ซึ่งราคานอกฤดูจะดีกว่าอยู่แล้ว ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30% ส่วนล้านละร้อยของธ.ก.ส.อยู่ระหว่างใช้หนี้้ปีที่ 2 นำมาหาแหล่งน้ำใหม่ และอยู่ระหว่างยื่นกู้เฟส2”
นางสาวกมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ เจ้าของไร่แสงสกุลรุ่ง ภายใต้แบรนด์ TEAMPHUM (ทีมผำ) กล่าวว่า ผำเป็นพืชน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในแหล่งน้ำสะอาด ลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ สีเขียว ซึ่งชาวบ้านจะช้อนมาประกอบอาหารประจำถิ่น อุดมไปด้วยโปรตีน และสารอาหารมากมาย ทางไร่จึงนำผำมาเลี้ยงในระบบปิดและแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งการดูงานครั้งนี้ได้ประสบการณ์เรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซี่งต้องยอมรับว่า ทางยุโรปโดดเด่นกว่าเอเชียแน่นอน
รวมถึงแพ็กเกจจิ้งที่สามารถสื่อให้เห็นถึงผลิตภัณ์รักษ์โลกได้ชัดเจน ที่สามารถนำไปปรับใช้กับสาหร่ายน้ำจืดหรือไข่ผำได้ ซึ่งปัจจุบันทางไร่มีผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานคือ ผำสด ผงผำมัจฉะ และโจ๊กผำ และยังไม่ได้มาตรฐานคือ ขนมจีนน้ำผำและเส้นผำสด ข้าวเกรียบและไข่เจียวผำ ซึ่งต้องไปทานที่ไร่อย่างเดียว
“ทางไร่ใช้เงินกู้ล้านละร้อยเฟสแรกและได้ใช้หนี้หมดแล้ว กำลังเขียนแผนเฟส 2 เพราะอยากได้โรงเรือนที่เป็นระบบผิดอย่างเป็นทางการ เพราะต้องการให้กระบวนการผลิตสินค้าสามารถสร้างความน่าเชื่อถิือให้กับลูกค้าได้ ดังนั้นหากสามารถควบคุมมาตรฐานได้ตั้งแต่ต้นกระบวนการ ไม่ว่าเราจะแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อะไร สินค้าทุกอย่างก็จะได้มาตรฐานตามไปเช่นกัน”
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,990 วันที่ 9 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2567