ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือ BBL รายงานผลประกอบการงวดครึ่งปี 2567 พบว่า มีกำไรสุทธิ 22,330 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 21,422 ล้านบาท โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 8.1% ตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อและการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ สุทธิกับต้นทุนเงินรับฝากที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 3.05%
สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น จากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวมที่ยังคงเติบโตดี ขณะที่กำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) ลดลงตามสภาวะตลาด
สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอยู่ในระดับใกล้เคียงกับงวดแรกปีก่อนจากการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 45.6%
ในงวดแรกปี 2567 ธนาคารตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 19,007 ล้านบาท โดยพิจารณาภายใต้หลักความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อ 2,719,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% จากสิ้นปีก่อน ส่วนใหญ่จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อลูกค้ากิจการต่างประเทศ
สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.2% ซึ่งอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 282.5% เป็นผลจากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง
ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 จำนวน 3,184,856 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อนและมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 85.4% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 19.5% 16.1% และ 15.3% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
“ไตรมาสที่สองของปี 2567 เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากอุปสงค์ภายในประเทศ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว การเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐ และจากการส่งออกของไทยที่ปรับตัวขึ้นตามการเร่งซื้อสินค้าและการย้ายฐานมาส่งออกจากไทย”
ส่วนทิศทางครึ่งปีหลัง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างชาติ และการเบิกจ่ายของภาครัฐเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ยังคงต้องติดตาม ได้แก่ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงเนื่องจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งอาจทำให้แนวนโยบายทางการค้า และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยนแปลงจากเดิม
แม้ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางขยายตัว การดำเนินกิจการของภาคธุรกิจยังคงเผชิญความท้าทายจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อบริบทโลกให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎเกณฑ์ของทางการ