นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงานเปิดตัวโครงการ “Ignite Finance” ว่า การสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสำคัญด้านการเงิน การลงทุน และการธนาคาร ด้วยการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกของประเทศไทยและการพัฒนากฎหมายการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง โครงการนี้จะดึงดูดเงินทุนต่างชาติและผู้เชี่ยวชาญ ที่มีทักษะสูงมายังประเทศไทย และทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก
ทั้งนี้ โครงการ "Ignite Finance" ถือเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก มีความมุ่งหวัง ที่จะสร้างระบบนิเวศน์ที่ผู้ประกอบการระดับโลกและวิสาหกิจเริ่มต้นและคนที่มีแนวคิด มารวมตัวกันเพื่อสร้างนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยีภายใต้กรอบการกำกับดูแลที่พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต
“เมื่อประเทศไทยเริ่มต้นก้าวสำคัญสู่การเปลี่ยนแปลงให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก ประเทศพร้อม ที่จะจุดประกายอนาคตแห่งความรุ่งเรือง นวัตกรรม และการเป็นผู้นำด้านการเงิน ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนเราจะสร้างศูนย์กลางการเงินทัดเทียมกับที่อื่นๆ ในโลก”
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เปิดตัวโครงการ "Ignite Finance" เพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของ 8 อุตสาหกรรมหลัก โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นการปฏิรูปการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจทางการเงินการสิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ และการเสริมสร้างระบบนิเวศน์ทางการเงินที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในอัตราที่เหมาะสม
ขณะเดียวกัน จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงินโลก หรือ Thailand Financial Center โดยวางเป้าหมายให้มีเงินทุนเข้ามาในประเทศใหญ่กว่าสิงคโปร์ ซึ่งจะมีความชัดเจนอย่างรูปธรรมในปี 2568 ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญต้องดำเนินการผ่าน 3 กุญแจสำคัญ ได้แก่
1. ออกกฎหมายธุรกิจการเงินใหม่ โดยเป็นการยกร่างกฎหมายที่มีความยืดหยุ่น โปร่งใส และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ภายใต้โครงการ Ignite Thailand ภาครัฐจะผลักดัน ร่างกฎหมายที่จะสร้างกรอบการกำกับดูแลแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดตั้งแต่การขอใบอนุญาตจนถึงการกำกับ ดูแลมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน เพื่อให้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็วและตอบโจทย์ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อขยายขอบเขตและบทบาทของภาคการเงินของประเทศไทยในเวทีโลก สำหรับ 5 ธุรกิจสำคัญ ได้แก่ ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจหลักทรัพย์ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และธุรกิจประกันภัย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วจะเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่ขั้นตอนของสภาฯ ต่อไป
“การดำเนินการดังกล่าว เป็นการออกกฎหมายใหม่ หน่วยงานมีอำนาจออกใบอนุญาต หลักเกณฑ์ เพื่อดึงธุรกิจยุทธศาสตร์จากต่างชาติเข้ามาในประเทศ ดึงเม็ดเงินใหม่ที่กระจายอยู่ทั่วโลกเข้ามาในประเทศไทย โดยทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) , สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) , สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)”
2.สิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ Ignite Finance จะสร้างให้ประเทศไทยเป็นตัวเลือกแรกที่สถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการทางการเงินเลือกที่จะมาตั้งสาขาและประกอบธุรกิจ ด้วยสิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งบริษัทและการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การให้วีซ่าทำงานแก่บุคลากรและวีซ่าที่เกี่ยวข้องของครอบครัว การจัดเก็บภาษีที่เทียบเท่ากับศูนย์กลางการเงินอื่น โครงการเพิ่มแรงจูงใจอื่นๆ เช่น เงินสนับสนุน (Grant)
3.ระบบนิเวศน์แห่งอนาคต การพัฒนากรอบกฎหมายที่เข้มแข็งและโปร่งใสที่จะเป็นพื้นฐาน ที่สำคัญในการทำธุรกิจทางการเงิน เหมือนที่ประเทศไทยได้ออกกฎหมายว่าด้วยการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) รวมถึงให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยเพื่อสนับสนุนธุรกิจและคุณภาพชีวิตของบุคลากร
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า รัฐบาลยังมีนโยบายการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (National Credit Guarantee Agency: NaCGA) ที่จะเป็นนวัตกรรมใหม่ในการค้ำประกันความเสี่ยงสินเชื่อ โดยนโยบายดังกล่าวมุ่งหวังที่จะส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมและเพิ่มการเข้าถึงทางการเงินของประชาชนและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้ระบบการเงิน มีประสิทธิภาพ มั่นคง และตอบโจทย์ของประชาชน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างเตรียมเสนอเรื่องเข้าครม. อนุมัติดำเนินการ โดยโมเดลของ NaCGA จะมีขนาดใหญ่ โดย บสย. จะเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรนี้ ซึ่งเป็นการค้ำประกันครบวงจร โดย NaCGA จะทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงของลูกค้า และคิดค่าธรรมเนียมตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนต้องจ่ายจำนวนน้อยมาก เนื่องจากจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ประชาชนได้ คือ การการันตีความเสี่ยงทางการเงิน
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะผลิกโฉมนโยบายระบบสถาบันการเงินด้วยการริเริ่มนโยบายระบบสถาบันการเงินภายในประเทศที่สำคัญ โดยกระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศกระทรวงการคลังเพื่อให้มีการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank)