ttb analytics ชี้ค่าเงินบาทสิ้นปี 67 ผันผวนหนัก แนะธุรกิจรับมือ

03 ส.ค. 2567 | 06:03 น.
อัพเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2567 | 06:03 น.

ttb analytics ประเมินแนวโน้มค่าเงินบาทสิ้นปี 2567 ผันผวนมากขึ้น ในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ผลจากพื้นฐานในประเทศเปราะบางกว่าอดีต แนะธุรกิจเตรียมรับมือตลาดการเงินที่ยังมีความไม่แน่นอน

KEY

POINTS

  •  คาดการณ์ช่วงสิ้นปี 2567 ค่าเงินบาทจะมีความผันผวนมากขึ้น อยู่ในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยพื้นฐานในประเทศที่ยังเปราะบางและความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์
  • ไทยมีการเกินดุลลดลงและดุลการค้าขยายตัวช้าลง ส่งผลให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่าขึ้นเหมือนในอดีต 
  • ธุรกิจควรติดตามข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจและการเงินอย่างใกล้ชิด ควรศึกษาและใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม เพื่อลดความผันผวนและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมิน ค่าเงินบาทในช่วงสิ้นปี 2567 มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น โดยจะอยู่ในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศยังคงเปราะบางกว่าในอดีต หลังเศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งส่งผลให้ดุลการชำระเงินไม่แข็งแกร่งเหมือนในอดีต

ประกอบกับความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ขยายตัว ทำให้ค่าเงินบาทยังมีความเสี่ยงอ่อนค่าและผันผวนอยู่ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงในช่วงปลายปีนี้ แนะธุรกิจเตรียมรับมือกับความเสี่ยงจากสถานการณ์ตลาดการเงินที่ยังมีความไม่แน่นอน

ทั้งนี้ช่วงครึ่งแรกปี 2567 ค่าเงินบาทอ่อนค่า 7% มากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย เป็นรองเพียงเงินเยนของญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา และปัจจัยในประเทศ เช่น ฤดูการจ่ายเงินปันผล และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศที่กดดันการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ เป็นต้น

ttb analytics ชี้ค่าเงินบาทสิ้นปี 67 ผันผวนหนัก แนะธุรกิจรับมือ

หากพิจารณาจากสถิติ 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า ทิศทางค่าเงินบาทมักจะปรับแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้าย ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉลี่ยถึง 4.9%  ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฤดูกาลท่องเที่ยวของไทยที่มีความต้องการเงินบาทจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น รวมถึงความต้องการค่าเงินบาทของกลุ่มบริษัทในการปิดงบประมาณสิ้นปี

อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในเชิงการเมืองและการค้า ดังนั้น ttb analytics ประเมินทิศทางค่าเงินบาทในช่วงครึ่งหลังปี 2567 มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น ณ สิ้นปี 2567 ค่าเงินบาทจะอยู่ในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

จากมุมมองปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทย และการเปลี่ยนแปลงทางการเงินและเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบ

  1. ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ยังไม่สามารถสนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเหมือนในอดีต จากแนวโน้มเกินดุลบัญชีเดินสะพัดไม่มากเหมือนในอดีต ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกสินค้าของไทยโตได้ช้าลง  ซึ่งหากดูตัวเลขดุลการค้า (Trade Balance) ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ไทยเกินดุลเพียง 7.1 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของมูลค่าเกินดุลเฉลี่ยปี 2558-2562 ที่ 14.4 พันล้านดอลลาร์
  2. ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital & Financial Account) ยังขาดดุลเพิ่มขึ้น กดดันค่าเงินบาทต่อเนื่อง ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายที่สะท้อนการลงทุนโดยตรงและสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังมีแนวโน้มไหลออกจากปัจจัยโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง ตลอดจนความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังมีอยู่ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนภายในประเทศ และทิศทางของเงินทุนต่างชาติ
  3. แนวโน้มวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงทั่วโลก อาจช่วยสนับสนุนการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ แต่ต้องติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์  แม้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะคาดว่า Fed จะเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งบางส่วนอาจช่วยลดแรงกดดันเงินทุนไหลออกจากประเทศไทยได้บ้าง  แต่การดึงดูดเงินทุนต่างชาติเข้าสู่สินทรัพย์ของไทยยังคงจำกัดจากการที่ตลาดหุ้นไทยไม่ได้มีหุ้นกลุ่ม Growth และดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงต่ำ เมื่อเทียบกับภูมิภาค

ttb analytics มองประเด็นเหล่านี้จะสร้างแรงกดดันให้ค่าเงินบาทผันผวนและอ่อนค่าได้ ทำให้ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับค่าเงินไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือผู้ที่มีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ ควรติดตามข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจการเงินอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ยังควรศึกษาและใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม เพื่อลดความผันผวนและความเสี่ยงของค่าเงินบาท เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ในช่วงเวลาต่อไป