หลังจากรัฐบาลเปิดให้ประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือนและมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาทลงทะเบียนรับสิทธิ์โครงการดิจิทัล วอลเล็ตตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.-15 ก.ย.2567 ล่าสุดมีประชาชนเข้าร่วมโครงการทะลุ 26 ล้านคนไปแล้ว
โดยที่ยังไม่มีความชัดเจนว่า ประชาชนเหล่านั้นจะได้รับเงินดิจิทัลเมื่อไหร่ เพราะรัฐบาลบอกคร่าวๆ เพียงว่า ปลายไตรมาส 4 หรือเดือนธ.ค. 2567 ที่จะเปิดให้ใช้จ่ายผ่านระบบ Open Loop ท่ามกลางข้อจำกัดของปีงบประมาณ 2567 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.67
ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า รัฐบาลจะสามารถตั้งงบเบิกจ่ายในโครงการได้ทันหรือไม่ หรือการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนก่อนที่การดำเนินการเรื่องงบประมาณจะมีข้อสรุปชัดเจนเพียงเพื่อใช้จำนวนคนลงทะเบียนมาตั้งโครงการก่อนหนี้ผูกพันข้ามปี
เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังว่า รูปแบบการผูกพันงบปี 67 เพื่อไปใช้ในปีงบ 68 เป็นการผูกพันโครงการจากประชาชนที่เข้ามาลงทะเบียนและได้รับสิทธิ์ดิจิทัล วอลเล็ต
“เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ไม่มีสัญญาการลงนามใดๆ เหมือนกับโครงการลงทุนของรัฐ ที่จะต้องผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แต่พันธสัญญาของรัฐบาลคือ การตอบกลับประชาชนไปว่าท่านได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ และขั้นตอนต่อไปกรมบัญชีกลางก็จะเป็นผู้ไปออกระเบียบรองรับว่าการดำเนินการลักษณะนี้สามารถผูกพันเงินให้ได้”นายลวรณกล่าว
ทั้งนี้งบประมาณปี 67 ที่รัฐบาลจะนำมาใช้ในการแจกเงินดิจิทัลรวม 1.65 แสนล้านบาทมาจากงบกลาง 4.3 หมื่นล้านบาทและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท ซึ่งงบรายจ่ายเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาทนั้นจะมาจากการกู้ขาดดุลงบประมาณ 1.12 แสนล้านบาทและอีก 1 หมื่นล้านบาทมาจาการจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมในปีงบประมาณ 67
อย่างไรก็ตาม จากการรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ล่าสุดพบว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 67(ต.ค.66 –มิ.ย.67) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2.01 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 26,169 ล้านบาทหรือ 1.3% และมีแนวโน้มลดลงจากในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.8%
ซึ่งต้องรอดูว่า สิ้นปีงบประมาณ รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่าเอกสารงบประมาณเดิมจนเพียงพอกับจำนวนงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมได้หรือไม่
แม้ปลัดกระทรวงการคลังจะออกมายืนยันว่า การใช้งบประมาณปี 67 เพื่อจัดทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาทคาดว่า จะเริ่มใช้จ่ายได้ในช่วงเดือนธ.ค.ของปีนี้นั้นสามารถทำได้ ไม่ขัดต่อกฎหมายงบประมาณ แต่ล่าสุดมีรายงานข่าวออกมาว่า การจะผูกพันโครงการงบประมาณได้ จะต้องเป็นหน่วยงานที่เบิกงบประมาณจากรัฐบาล ไม่ใช่จำนวนประชาชน
หากเป็นเช่นนั้น รัฐบาลก็ต้องเจออีกปมปัญหาที่ต้องหาทางแก้ไข แม้ว่านายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการคลังจะยืนยันว่า สามารถทำได้ ไม่ติดกฎหมายแน่นอน
ขณะที่การลงทะเบียนร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รัฐบาลจะเปิดให้ลงทะเบียนในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนส.ค.ไปจนถึงเดือนพ.ย. กว่าจะเปิดระบบร้านค้ารับการใช้จ่ายผ่านระบบ Open Loop คือเดือนธ.ค.ซึ่งพ้นปีงบประมาณ 2567 ไปแล้ว
โดยเฉพาะร้านค้าที่จะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณจากรัฐบาลได้คือ พ่อค้า แม่ค้า คนรับเงินคนที่ 2 หรือ 3 ที่อยู่ในระบบภาษี VAT และภาษีนิติบุคคลเท่านั้น ที่สามารถนำเงินดิจิทัลที่ได้ทั้งหมดไปขึ้นเงินสด กว่าจะเดินทางไปพ่อค้าแม่ค้าด่านที่ 2 ที่ 3 ก็คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ
การวางรูปแบบที่ซับซ้อน ด้วยเหตุผลของความต้องการรอบหมุนของเงินและป้องกันการทุจริต ทำให้ธุรกิจร้านค้ากำลังชั่งใจในการเข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะร้านค้าขนาดเล็กที่จะรับเงินจากประชาชนเป็นด่านแรก ที่ไม่มีโอกาสจะได้เงินสดมาหมุนเวียนใช้จ่ายในชีวิตประจำวันรวมถึงร้านค้าในด่านที่สองก็เช่นกัน ที่ตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าในการเข้าร่วมโครงการหรือไม่ เมื่อเปิดลงทะเบียนก็คงจะเห็นภาพที่ชัดเจน
ขณะเดียวกันภายใต้พ.ร.บ.เงินตราที่กำหนดมูลค่าสิทธิใช้จ่ายที่รัฐบาลกำหนดขึ้น จะต้องมีงบประมาณรองรับเต็มจำนวน (fully earmarked) และมีแหล่งที่มาของเงินที่เจาะจงชัดเจนในวันเริ่มโครงการ
ก็ยังไม่ชัดว่า ในเดือนธันวาคม 2567 ที่จะเปิดให้มีการใช้จ่ายผ่านระบบ Open Loop นั้นทั้งงบประมาณปี 2567 ที่จะต้องก่อหนี้ผูกพันข้ามปีและงบประมาณปี 2568 จะสามารถจัดหามาได้เต็มจำนวน 4.5 แสนล้านบาทหรือไม่ หรือที่สุดอาจจะเลือกดำเนินการเป็นเฟสๆ ตามจำนวนเงินที่หามาได้หรือไม่
หากเป็นเช่นนั้นพายุหมุนทางเศรษฐกิจจะยังหมุน 4 รอบหรืออ่อนแรงลงก็คงต้องจับตาดูอีกครั้ง