ยอดเงินฝากเพิ่ม2% แนะลงทุนพันธบัตร เหตุผลตอบแทนสูง

13 ส.ค. 2567 | 09:20 น.
อัพเดตล่าสุด :13 ส.ค. 2567 | 09:20 น.

เงินฝากครึ่งปีโต 1.8% เหตุคนใช้จ่ายไม่เต็มจำนวน เหลือเงินไปเติมยอดเพิ่มขึ้นแตะ 16 ล้านล้านบาท แถมกระจายไปยังผลตอบแทนที่สูงกว่า ทั้ง “ตราสารหนี้-พันธบัตรออมทรัพย์-สลากแบงก์รัฐ” แม้จะเสี่ยงกว่า ค่ายกรุงไทยแนะ โยกลงทุนพันธบัตร ผลตอบแทนยังได้ 3%

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รายงานยอดคงค้างเงินรับฝากของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบเดือนพฤษภาคม 2567 รวมทั้งสิ้น 17.30 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 341,957 ล้านบาทหรือเติบโต 2.02% จาก 16.95 ล้านล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากประจำ 1-2 ปีถึง 302,263 ล้านบาทหรือ 37.17%  รองลงมาเงินฝากประจำมากกว่า 2 ปีเพิ่มขึ้น 43,362 ล้านบาทหรือ 23.70% และเงินฝากประจำ 6-12 เดือนเพิ่มขึ้น 525,094 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 28.03%

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ยอดคงค้างเงินฝากธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศตั้งแต่ต้นปีถึงมิถุนายนเพิ่มขึ้นราว 0.5% รวม 15.98 ล้านล้านบาทจากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 15.90 ล้านล้านบาท หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเพิ่มขึ้น 1.8%

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

สะท้อนเงินฝากทยอยกลับมาบางส่วน ประกอบกับฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว ซึ่งเงินฝากขยายตัวไม่มากประมาณ 0.3%    

อย่างไรก็ดียังคงเห็นการย้ายเงินฝากจากบัญชีออมทรัพย์ไปยังกลุ่มบัญชีเงินฝากประจำ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเงินฝากภาคธุรกิจ มากกว่ารายย่อย ซึ่งเข้าใจว่า เงินฝากกลุ่มรายย่อยนั้น ปีนี้มีตัวเลือกในการออมมากขึ้น เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้(Term Fund) ทั้งต่างประเทศและไทยที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากในประเทศ

ดังนั้นแม้ Term Fund อาจจะมีความเสี่ยงบ้าง แต่ก็เป็น 1ในตัวเลือกของผู้ฝากเงินและรับความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง 

ยอดคงค้างเงินฝากบุคคลธรรมดา

นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆในประเทศเช่น พันธบัตรออทรัพย์, สลากออมทรัพย์ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ออม เพื่อกระจายการออมในรูปแบบต่าง และปีนี้ตลาดเงินฝากก็มีสีสันในส่วนโปรดักต์เงินฝากสกุลเงินต่างประเทศหลายธนาคารทยอยออกแคมเปญมา

ทั้งนี้ภาพรวมเงินฝากที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะผู้ฝากเงินไม่ได้ใช้จ่ายเต็มวงเงินของรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้คนฝากเงินมีเงินฝากเติมเข้ามา จึงไม่เห็นการโยกเงินฝากหรือไหลออกจากธนาคาร อีกทั้งโปรดักต์เงินฝากจะมีอายุชัดเจนและสามารถปรับเป็นโปรดักต์เงินออมในแต่ละเดือนได้ เช่น พันธบัตรออมทรัพย์ที่ออกมาเป็นตัวเลือกเฉพาะบางเดือน 

“เงินฝากครึ่งปีนี้เพิ่มขึ้นมา 1.8%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นเงินฝากจากภาคธุรกิจมากกว่ารายย่อย ส่วนเงินฝากรายย่อยเพิ่มขึ้นมาในปริมาณที่ไม่ได้มาก เพราะผู้ฝากรายย่อยน่าจะมีตัวเลือกเยอะในช่วงนี้"

ขณะที่ตลาดเงินฝากปีนี้ก็มีสีสันรวมทั้งโปรดักต์เงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ เงินฝากประจำพิเศษ เทอมฟันด์ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูงกว่าเงินฝาก แม้ความเสี่ยงอาจจะมากกว่าการฝากเงินบ้านเราเล็กน้อย แต่ผู้ลงทุนยังรับได้ และผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก อีกทั้งมีระยะเวลา 6-7เดือน

ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เงินฝากจะเติบโตใกล้เคียงกับสถานการณ์ความต้องการสินเชื่อ ซึ่งยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินทยอยออกแคมเปญเพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำพิเศษ ทั้งชดเชยผลิตภัณฑ์เดิมและออกใหม่ เพื่อเป็นตัวเลือกแต่ระยะเวลาและอายุเงินฝากไม่ยาวมาก 

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นผลพวงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยโลก ทั้งธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางแคนาดา รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทย

ซึ่งเป็นที่จับตาว่า จะลดดอกเบี้ยในลำดับต่อไป จะทำให้ตลาดพันธบัตรอายุยาวๆ ได้รับประโยชน์ เพราะอัตราผลตอบแทนพันธบัตร(Yiled Curve) ยังมีความชันหลงเหลืออยู่ เช่น ปีนี้พันธบัตรไทยอายุเฉลี่ย 8.5ปี ให้ผลตอบแทนประมาณ 3.00% 

ดังนั้น ท่ามกลางบรรยากาศผ่อนคลายแบบนี้ “พันธบัตร” จึงเป็นสินทรัพย์ที่น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดี และถ้าใครที่ถือพันธบัตรอยู่ก็ยังสามารถถือต่อได้อีกถึงต้นปีหน้า ทั้งพันธบัตรไทยและทั่วโลก ซึ่งกระทรวงการคลังจะจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ภายในเดือนสิงหาคมนี้ 

ส่วนตัวคาดว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจอย่างมากและอาจจะมากกว่ารอบก่อนๆที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะทิศทางดอกเบี้ยที่ชัดเจนว่า จะปรับลดและผลตอบแทนที่ดี 

ดังนั้นนักลงทุนอาจจะลดพอร์ตลงไปก่อน หลังจากตลาดหุ้นผันผวน แต่พันธบัตรเป็นคำตอบ ซึ่งนักลงทุนจะมองอัตราดอกเบี้ยไทยอาจจะไม่สูงแต่อัตราเงินเฟ้อต่ำ แสดงว่าสินทรัพย์ไทยยังมีมูลค่าที่ดีอยู่ มีโอกาสที่นักลงทุนต่างประเทศจะเข้ามา

"ช่วงเดือน 7-8 ก็เริ่มเห็นนักลงทุนต่างประเทศกลับมาซื้อสุทธิบอนด์ไทยแล้ว ผู้ฝากเงินส่วนหนึ่งอาจจะสลับย้ายเงินฝากลงในพันธบัตรรัฐบาลหรือกองทุนรวมตราสารหนี้บ้าง เพื่อผลตอบแทน แม้ส่วนใหญ่ต้องการความเสถียรในเงินฝากก็ตาม”นายสงวนกล่าว