จับตาปี 67 แบงก์พาเหรดขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก

31 ธ.ค. 2566 | 08:23 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ธ.ค. 2566 | 08:25 น.

ตลาดเงินประเมินทิศทางดอกเบี้ยไทยปี 67 หลังรอบปีแบงก์ขยับดอกเบี้ยตระกูล M ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย ดันส่วนต่างดอกเบี้ยแท้จริง พลิกบวก จับตาดอกเบี้ยเงินฝากขยับปีหน้า หากเศรษฐกิจฟื้นได้ คาดเงินฝาก-สินเชื่อกลับมาบวกจากฐานต่ำในปีนี้

ในรอบปี 2566 คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องรวม 2.00% ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2565 จาก 0.50% สู่ระดับ 2.50% เมื่อ 27 กันยายน 2566 หลังจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมวันที่ 15-16 มีนาคม 2565 จากระดับ 0.00-0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% (ณ วันที่ 25-26 กรกฎาคม 2566)

อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง หากคำนวณจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปัจจุบันเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ -0,44% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะอยู่ที่ 2.06%  คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ 12 เดือนเดือนข้างหน้าอยู่ที่ 2.0-2.2% (ไม่รวมดิจิทัล วอลเลต) อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเท่ากับ 0.5-0.3%  อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 1 2เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.8% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเท่ากับ 0.7% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนอยู่ที่ 1.20-2.65% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเท่ากับ 1.3% และติดลบ 0.15%

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การปรับดอกเบี้ยนโยบาย(อาร์/พี) ที่อัตรา 2.0% และการส่งผ่านของดอกเบี้ยของไทยก็ไม่ได้สูง โดยการส่งผ่านของอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) และอัตราดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี (MRR) จะอยู่ที่ประมาณ 1.5-1.6% หรือส่งผ่านประมาณ 60-70% ของการขึ้นดอกเบี้ย

ทั้งนี้ผลของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นมาในช่วงของปีที่แล้ว กว่าจะส่งทอดไปสู่ระบบเศรษฐกิจจริงยังไม่หมด โดยยังคงค้างเหลืออยู่บ้าง เช่น สินเชื่อที่มีลักษณะอัตราดอกเบี้ยคงที่ (FIX Rate)

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)

“การส่งผ่านดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ยังน้อยมากในช่วงที่ผ่านมา เพราะทุกคนรัดเข็มขัดกันหมด ซึ่งนโยบายการปล่อยสินเชื่อเข้มงวด เป็นการแย่งลูกค้าที่มีคุณภาพดี ถ้าดอกเบี้ยแพงจะส่งผ่านต้นทุนดอกเบี้ยไม่ได้ ทำให้ไม่ค่อยจะเห็นการทำสงครามราคากัน แต่เริ่มมีความพยายามจะแย่งเงินฝาก เนื่องจากสภาพคล่องของตัวเองที่ลดลง จะแย่งลูกค้าชั้นดี” ดร.จิติพล กล่าว

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยกล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การทยอยขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ได้ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของครัวเรือนและภาคธุรกิจทยอยสูงขึ้น และทำให้ภาวะการเงินของไทยตึงตัวขึ้น แต่ยังไม่ได้อยู่ในระดับที่ตึงตัวไปมาก จนกระทบต่อการฅกู้ยืมของครัวเรือนและภาคธุรกิจ รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย

ซึ่งทางธปท.เองก็ระบุว่า การชะลอตัวลงของยอดสินเชื่อนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งขยายตัวไปแล้วในช่วง COVID ดังนั้น หากแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของไทย เป็นไปตามที่ทาง ธปท. คาดการณ์ อีกทั้งในปี 2567 ก็จะเข้าสู่ช่วงขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางส่วนใหญ่ โอกาสธปท.จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร

ทั้งนี้ หากไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ทางธนาคารพาณิชย์ก็อาจไม่ได้ปรับดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติม โดยจุดที่ควรจับตา คือ ธนาคารพาณิชย์จะมีโอกาสปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากหรือไม่ หากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด จนทำให้ความต้องการสินเชื่อขยายตัวได้ดีอีกครั้ง

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดกล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลกระทบจากการส่งผ่านดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์นั้น ในส่วนของลูกหนี้เดิมอาจจะมีภาระเพิ่มจากการขึ้นดอกเบี้ยตระกูล M ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารยังขึ้นดอกเบี้ย MRR ในอัตราน้อยกว่า MLR แต่ลูกหนี้สามารถขอปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ได้

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

สำหรับผู้กู้ ใหม่ต้องยอมรับว่า จะเจอระดับดอกเบี้ยสูงกว่าก่อนหน้า ซึ่งผู้กู้ใหม่ต้องดูภาระของตัวเองให้ดี เพราะหนี้ก่อนใหม่จะอยู่กับตัวเองไป หากไม่จำเป็นหรือรับภาระไม่ไหวอย่าสร้างหนี้

 “ปีหน้าทั้งเงินฝากและสินเชื่อจะกลับมาเติบโตเทียบจากฐานต่ำในปีนี้ หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีกว่า โดยมองกรอบสินเชื่ออยู่ที่ 2.5-3.5%เงินฝาก 2.8-3.6% ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากปีหน้ายังคงนิ่งตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ยกเว้นแบงก์จะออกโปรดักต์เงินฝากพิเศษเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ออม”

 สำหรับสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศเดือนพฤศจิกายนปีนี้ติดลบประมาณ 0.5% ยอดคงค้างสินเชื่ออยู่ที่ 14.64 ล้านล้านบาท ลดลงจากเดิมที่ 14.71 ล้านล้านบาทเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับเงินฝากรวมที่ติดลบ 0.3% ยอดคงค้างเงินฝากอยู่ที่ 15.79 ล้านล้านบาทในเดือนพฤศจิกายน จากระดับ 15.83 ล้านล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

 ต่อข้อถามถึงภาพรวมการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน (ฟันด์โฟลว์) นางสาวกาญจนากล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิสะสมในตลาดหุ้น 1.96 แสนล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net outflows ออกจากตลาดพันธบัตรรวมประมาณ 1.51 แสนล้านบาท ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-25 ธันวาคม 2566

 ส่วนทิศทางค่าเงินบาทนั้น แนวโน้มปี 2567 คาดว่า เงินบาทอาจจะยังคงปรับตัวอย่างผันผวนในช่วงแรก เพราะเป็นช่วงที่ตลาดยังคงอยู่ระหว่างประเมินจังหวะเวลาที่ชัดเจนของการเริ่มปรับลดดอกเบี้ยของเฟด และยังมีความกังวลต่อเนื่องในประเด็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยคาดว่า เงินบาทอาจปิดสิ้นปี 2567 ที่ระดับประมาณ 34.00 บาทต่อดอลลาร์

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,954 วันที่ 4 - 6 มกราคม พ.ศ. 2567