ดอกเบี้ยออมทรัพย์ตํ่า แห่โยกซบกองทุนรวม-เทอมฟันด์

05 มิ.ย. 2567 | 11:22 น.
อัพเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2567 | 11:22 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ เงินฝากเม.ย.มีแนวโน้มเติบโต 1.4% จากฐานที่ต่ำ พบไตรมาสแรกแบงก์ไม่เร่งออกโปรดักต์เงินฝาก เหตุรอลุ้นภาวะเศรษฐกิจ พบคนย้ายออมทรัพย์ลงทุน “กองทุนรวม หรือเทอมฟันด์” และผลิตภัณฑ์อื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานยอดคงค้างเงินรับฝากธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ไตรมาสแรกปีนี้พบว่า มียอดคงค้างทั้งสิ้น 16.36 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 158,319 ล้านบาทจากสิ้นปี 2566 หรือเพิ่มขึ้น 0.98% และเพิ่มขึ้น 1.17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยพบว่า บัญชีจ่ายคืนเมื่อทวงถามลดลง 0.75% จากสิ้นปี 2566 แต่เพิ่มขึ้น 3.10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่บัญชีเงินฝากประจำเพิ่มขึ้น 4.83% จากสิ้นปี 2566 และเพิ่มขึ้นถึง 20.41% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และบัญชีออมทรัพย์ลดลง 0.75% จากสิ้นปี 2566 และลดลง 6.59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 

ยอดคงค้างเงินรับฝากธนาคารจดทะเบียนในประเทศ

สำหรับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ปรับลดลงนั้นพบว่า ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 2.62%จากสิ้นปี 2566 แต่ลดลง 3.63% เมื่อเทียบกับช่วงดียวกันปีก่อนและบัญชีรายย่อยลดลง 2.14% จากสิ้นปี 2566 และลดลง 9.92% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่บัญชีเงินฝากประจำของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 8.38% จากสิ้นปี 2566 และเพิ่มขึ้น 13.51% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และบัญชีเงินฝากประจำรายย่อยเพิ่มขึ้น 4.77% จากสิ้นปี 2566 และเพิ่มขึ้น 27.40% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

“ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า ค่าใช้จ่าย จากเงินรับฝากของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในไตรมาสแรกปี 2567 เพิ่มขึ้น 18,943 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 73.11% จาก 25,909 ล้านบาท มาอยู่ที่ 44,852 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีจำนวน 17.24 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 2.03 แสนล้านบาทหรือ 1.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 17.03 ล้านล้านบาท 

ส่วนใหญ่เงินฝากเพิ่มขึ้น 8.92% ในบัญชีเงินฝากประจำ 1-2 ปีคิดเป็นเม็ดเงินกว่า 4.24 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นบัญชีเงินฝากประจำอายุมากกว่า 6 เดือน-1 ปี เพิ่มขึ้น 25.94% และบัญชีเงินฝากประจำอายุมากกว่า 2 ปีเพิ่มขึ้น 20.19% ขณะที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์มีจำนวน 10.71 ล้านล้านบาท ปรับลดลง 7.30 แสนล้านบาทหรือลดลง 6.38% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 11.44 ล้านล้านบาท และเงินฝากประจำอายุน้อยว่า 3 เดือนลดลงกว่า 30,514 ล้านบาทหรือลดลง 2.51%

หากเทียบภาพรวมเงินรับฝากของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบพบว่า ยอดคงค้างเงินฝากโดยรวมมีจำนวน 17.24 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 212,372 ล้านบาทหรือคิดเป็นอัตราเติบโต 1.24% เมื่อเทียบเดือนธันวาคมปีก่อนอยู่ที่ 17.02 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากประจำ 6 เดือน-1 ปี 7.66% เงินฝากประจำ 1-2 ปี 5.76% และเงินฝากประจำ2 ปีขึ้นไป 4.45% แต่เงินฝากออมทรัพย์ปรับลดลง 71,502 ล้านบาทหรือคิดเป็นลดลง 0.66% 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางเงินฝากในเดือนเมษายนปีนี้มีแนวโน้มที่เงินฝากจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 1.4% เมื่อเทียบจากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน จากภาพรวมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (17แห่ง)ไตรมาสแรกปีนี้ มียอดคงค้างรวม 16.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1%เมื่อเทียบช่วงเดือนกันปีก่อนอยู่ที่ 15.90 ล้านล้านบาทและขยับขึ้น 1.1% เช่นกันเมื่อเทียบสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 15.90 ล้านล้านบาท

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ทั้งนี้พบว่า เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากประจำ โดยเฉพาะ 6 เดือน-1 ปีและเงินฝากประจำ 1-2 ปี แต่เงินฝากออมทรัพย์ปรับลดลงตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด ส่วนหนึ่งเพราะอัตราดอกเบี้ยในประเทศขยับขึ้น ทำให้ผู้ฝากเงินมีการปรับจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เป็นบัญชีเงินฝากประจำ

ขณะที่ภาพรวมของบัญชีเงินฝากประจำที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นมากกว่ารายย่อย โดยเงินฝากภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 2.24%สูงกว่าเงินฝากรายย่อยที่ขยับเพิ่มเพียง1.15% ซึ่งยอดคงค้างเงินฝากภาคธุรกิจรวมประมาณ 4.49 ล้านล้านบาท ณ มีนาคมเพิ่มขึ้นประมาณ 1.44 แสนล้านบาทจากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 4.34 ล้านล้านบาท 

ส่วนเงินฝากรายย่อยปรับขึ้นน้อยกว่าเงินฝากภาคธุรกิจ โดยมียอดคงค้าง 8.96 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 2.97 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 8.93 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ เงินฝากภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นนั้นจะมีทั้งที่เป็นสกุลเงินบาทและสกุลเงินอื่นๆ 

“ช่วงที่ผ่านมาเงินฝากเติบโตไม่สูง เห็นได้จากเงินฝากรายย่อยที่เพิ่ม 2.97 หมื่นล้านบาท เพราะผลตอบแทนจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ปรับเพิ่มสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ทำให้มีการย้ายเงินฝากไปลงทุนในกองทุนรวมหรือเทอมฟันด์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ส่วนค่าใช้จ่ายเงินรับฝากที่เพิ่มขึ้น สะท้อนต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากธนาคารในระบบทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากในช่วงที่ผ่านมา” นางสาวกาญจนากล่าว

สำหรับภาพรวมผลิตภัณฑ์เงินฝากของธนาคารในระบบทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐช่วง 4 เดือนแรกปีนี้พบว่า ภาพรวมทยอยออกโปรดักต์ใหม่ประมาณ 67 โปรดักต์ แต่ครบกำหนด 76 โปรดักต์ สะท้อนภาพรวมสถาบันการเงินไม่เร่งออกโปรดักต์เงินฝาก เข้าใจว่า น่าจะรอดูภาวะเศรษฐกิจ สัญญาณความต้องการสินเชื่อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศ เพื่อรอจังหวะที่เหมาะสมโดยศูนย์วิจัยประเมินภาพรวมเงินฝากปีนี้น่าจะเติบโต 2.8-3.6% 

อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยและสหรัฐ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567พบว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 3 เดือน อยู่ที่ 2.30% ต่อปี อายุ 2ปี 2.38% 5 ปี 2.52% และ 10 ปีอยู่ที่ 2.82% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอยู่ที่ 4.89% 4.52% และ 4.51% ตามลำดับ โดยจะเห็นได้ว่า อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปียังต่ำกว่าอายุ 2 ปี แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐระยะสั้น 3 เดือนอยู่ที่ 5.46% ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 5.25-5.50%

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,998 วันที่ 6 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2567