BAY ชี้การตั้งสำรองสูงขึ้น กระทบกำไรไตรมาส 2/67 หดเหลือ 8.2 พันล้าน

19 ก.ค. 2567 | 05:51 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2567 | 05:52 น.

BAY เผยไตรมาส 2/67 กำไรสุทธิลดลง 2.57% จากปีก่อน เหลือ 8.2 พันล้าน และครึ่งแรกปี 67 ที่ 1.57 หมื่นล้าน จากเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ด้านเงินให้สินเชื่อรวมครึ่งแรกปีที่ 1.99 ล้านล้าน และเงินรับฝากที่ 1.91 ล้านล้านบาท

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY รายงานผลประกอบการในช่วงไตรมาส 2/2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 8,209 ล้านบาท ลดลง 216.37 ล้านบาท หรือ -2.57% จากช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่ 8,425.30 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2567 เติบโต 8.8% จาก 7,543 ล้านบาท โดยมีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 22,245 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% จากไตรมาสก่อนที่ 21,949 ล้านบาท และเติบโต 21.2% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ 18,351 ล้านบาท

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 28,299 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.5% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ 23,299 ล้านบาท และเติบโต 3.7% จากไตรมาสก่อนที่ 27,295 ล้านบาท ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 11,172 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.3% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ 8,846 ล้านบาท แต่ลดลง 0.6% จากไตรมาสก่อนที่ 11,238 ล้านบาท ทั้งนี้ รายได้จากการดำเนินงานในไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 39,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.8% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ 32,145 ล้านบาท และเติบโต 2.4% จากไตรมาสก่อนที่ 38,533 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานในไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 17,226 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% จากไตรมาสก่อนที่ 16,584 ล้านบาท และเติบโต 24.9% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ 13,794 ล้านบาท นอกจากนี้ ในไตรมาส 2/2567 มีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 11,817 ล้านบาท ลดลง 3.7% จากไตรมาสก่อนที่ 12,271 ล้านบาท แต่เพิ่มขึ้น 51.3% จากจำนวน 7,811 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันในปีก่อน

สำหรับผลประกอบการครึ่งแรกปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 15,752 ล้านบาท ลดลง 7.9% หรือจำนวน 1,350 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 17,102 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกปี 2567 ที่ 24,088 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.0% จากปีก่อนที่ 13,610 ล้านบาท ตามการตั้งสำรองที่รอบคอบระมัดระวัง

ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกปี 2567 เติบโต 26.0% หรือจำนวน 9,128 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้เต็มจำนวนจากบริษัทลูกในภูมิภาคอาเซียนที่ได้ควบรวมมาในปี 2566 และกำไรจากการดำเนินงานในประเทศที่เพิ่มขึ้น

ในส่วนเงินให้สินเชื่อรวม อยู่ที่ 1,991,931 ล้านบาท ลดลง 1.3% หรือจำนวน 25,273 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2566 ที่ 2,017,204 ล้านบาท โดยมีปัจจัยบางส่วนมาจากสินเชื่อเพื่อรายย่อยที่ปรับตัวลดลง 3.5% ตามนโยบายการให้สินเชื่อที่เข้มงวดรัดกุมภายใต้บริบทที่ภาระหนี้ของลูกหนี้ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยังมีการเติบโตโดยรวมอยู่ที่ 0.8% จากแรงสนับสนุนต่อความต้องการเงินทุนหมุนเวียนของภาคธุรกิจในช่วงครึ่งแรกของปี

ด้านเงินรับฝากครึ่งแรกปี 2567 อยู่ที่ 1,916,388 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% หรือจำนวน 76,787 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2566 ที่ 1,839,601 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากเงินรับฝากประจำ สำหรับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 4.31% จาก 3.52% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ปัจจัยสนับสนุนจากอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการควบรวมธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศในปี 2566 แม้ต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มขึ้นก็ตาม ส่วนหนี้สินรวมในช่วงครึ่งแรกปี 2567 อยู่ที่ 2,386,539 ล้านบาท ลดลง 0.4% จากสิ้นปี 2566 ที่ 2,396,841 ล้านบาท

ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 26.6% หรือจำนวน 4,708 ล้านบาท จากช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ที่ 17,702 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากการควบรวมธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศในปี 2566 การเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายประกันภายในประเทศ การเพิ่มขึ้นของหนี้สูญรับคืน และกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน

โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในช่วงครึ่งแรกปี 2567 อยู่ที่ 55,594 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.0% จากช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่ 44,489 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการดำเนินงานในไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 78,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.4% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ 62,191 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 33,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.6% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ 27,125 ล้านบาท

ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ อยู่ที่ 43.3% ปรับตัวดีขึ้นจาก 43.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 และมีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 3.05% สำหรับสัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 243 เบสิสพอยท์ และอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 128.8% ในดส่วนอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 17.87% เทียบกับ 18.24% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 ที่ระดับ 18.24%