นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) ธนาคาร เมื่อ 22 สิงหาคม 2567 มีมติให้จ่ายเงินปันผล หุ้นสามัญระหว่างกาล สำหรับผลประกอบการงวด 6 เดือนแรก ปี 2567 ในอัตราหุ้นละ 2.00 บาท
กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 5 กันยายน 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 20 กันยายน 2567
ธนาคาร กรุงเทพรายงานกำไรสุทธิ งวดครึ่งแรกปี 2567 จำนวน 22,330 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 4.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 21,422 ล้านบาท โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 8.1% ตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อและการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ สุทธิกับต้นทุนเงินรับฝากที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 3.05%
ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น จากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวมที่ยังคงเติบโตดี และกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) ลดลงตามสภาวะตลาด
ส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอยู่ในระดับใกล้เคียงกับงวดแรกปีก่อนจากการบริหารค่าใช้จ่ ายอย่างเหมาะสม ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 45.6%
อย่างไรก็ตาม งวดครึ่งแรกปี 2567 ธนาคารตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 19,007 ล้านบาท โดยพิจารณาภายใต้หลักความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง
“ไตรมาส2 ปี 2567 เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากอุปสงค์ภายในประเทศ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว การเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐ และจากการส่งออกของไทยที่ปรับตัวขึ้นตามการเร่งซื้อสินค้าและการย้ายฐานมาส่งออกจากไทย
แนวโน้มครึ่งปีหลัง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างชาติ และการเบิกจ่ายของภาครัฐเป็นหลัก ส่วนปัจจัยสำคัญที่ยังคงต้องติดตามคือ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงเนื่องจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้
ธนาคารกรุงเทพยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,719,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% จากสิ้นปีก่อน ส่วนใหญ่จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อลูกค้ากิจการต่างประเทศ
สำหรับอัตราส่วน เงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.2% ซึ่งอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 282.5% เป็นผลจากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง
ส่วนเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 จำนวน 3,184,856 ล้านบาทใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อน และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 85.4%