ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายขึ้นกับแนวโน้ม (outlook) ซึ่งหากแนวโน้มเปลี่ยนไปก็พร้อมเปลี่ยนนโยบายการเงิน ที่มีการคุยกันแล้วในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่แล้ว โดยสะท้อนออกมาในรายงานเผยแพร่ กนง.ล่าสุดว่า ความเชื่อมโยงทางการเงินที่ตึงตัวจนกระทบต่อเครดิตแรงกว่าที่ควรก็พร้อมปรับเปลี่ยนนโยบาย
ทั้งนี้การพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายจะพิจารณา 3 ปัจจัยสำคัญ ทั้งการเติบโตเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน โดยหากดูภาพรวมเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน จากภาพการขยายตัวเศรษฐกิจไทยหรือจีดีพีที่ออกมาล่าสุด ถือว่าออกมาเป็นไปตามคาด โดยรวมมีภาพของการค่อย ๆ เข้าสู่ศักยภาพ
ภาพดังกล่าวยังไม่มีมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยอมรับว่า มีความเสี่ยงในบางมิติที่มากขึ้น เช่น การลดลงของการลงทุนเอกชน แต่โดยรวมประมาณการณ์เศรษฐกิจที่ออกมายังใกล้เคียงกับที่ กนง.ประเมินไว้
ขณะที่เงินเฟ้อ ถือว่าต่ำกว่ากรอบล่าง และมีแนวโน้มค่อย ๆ เข้าสู่กรอบล่างของกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 1-3% ซึ่งสิ่งที่สำคัญกว่าคือ การรักษาการคาดการณ์เงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ และยังไม่เห็นภาพของเงินเฟ้อที่ต่ำลงจนนำไปสู่เงินฝืด หรือทำให้การบริโภคชะลอตัวลงต่อเนื่อง
สุดท้าย เรื่องของเสถียรภาพการเงิน ที่ ธปท.มองเห็นการ “ตึงตัว” ของภาวะการณ์เงิน จากแบงก์ปล่อยสินเชื่อลดลง จนเริ่มมีผลกระทบเชื่อมโยงต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ดังนั้นมองว่า หากสถานการณ์มีกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ มีโอกาสที่กนง.จะปรับเปลี่ยน “ดอกเบี้ยนโยบาย” ได้
“เราเปิดมากขึ้นในการปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยต่าง ๆ ตามสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป หากความเชื่อมโยงทางการเงินที่ตึงตัวจนกระทบต่อเครดิตควอลิตี้แรงกว่าควรก็พร้อมปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องกับบริบทนี้” ดร.เศรษฐพุฒกล่าว