“พิชัย” บี้ธปท. กำกับความต่างอัตราดอกเบี้ย ชี้รายย่อยได้เงินกู้ดอกแพง

22 ส.ค. 2567 | 09:30 น.
อัพเดตล่าสุด :22 ส.ค. 2567 | 09:30 น.

“พิชัย”​ บี้​ธปท.กำกับความต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างดอกเบี้ยนโยบายกับ MRR เล็งออกแพลตฟอร์มตลาดกลาง ซื้อขายคาร์บอนเครดิต ลดโลกเดือด

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)​คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไว้ที่ 2.5% ว่า เป็นมุมมองของหน่วยงานกำกับดูแลภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งการจะลดหรือไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็เป็นมุมมองตัวชี้วัดของเศรษฐกิจในระยะต่อไป 

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคืออัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะแปรไปเป็นดอกเบี้ยของประชาชน และร้านค้าจะต้องจ่าย เป็นสิ่งที่เป็นประเด็นมากกว่า ดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้อยู่ที่ 2.5% กับดอกเบี้ยรายย่อยที่คิดเฉลี่ย 7% มันเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งคิดว่าผู้กำกับดูแลจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และจะต้องไปดูกับสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องให้เกิดความเหมาะสม 

เมื่อถามว่าปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยอ้างอิงลูกค้ารายย่อยสูงเกินไปหรือไม่นั้น  กล่าวว่า เรื่องนี้ก็แล้วแต่มุมมอง ส่วนตัวมองว่า ส่วนต่างของต้นทุนของสถาบันการเงิน กับดอกเบี้ยที่ได้มันต่างกันมาก ถ้าเป็นรายใหญ่ก็ต่ำมาก รายกลางก็ต่ำ แต่ถ้าเป็นรายย่อยส่วนมากยังคงสูง แต่สถาบันการเงินก็อาจมองว่ากลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูง  

ทั้งนี้ นายพิชัย ยังกล่าวถึงปัญหาโลกเดือด ว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาจัดทำตลาดกลางคาร์บอนเครดิตขึ้นมา โดยเป็นแฟลตฟอร์มให้สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาราคาของคาร์บอน เครดิตให้ได้ด้วย โดยพิจารณาจากราคาตลาดโลก ตลาดเพื่อนบ้าน อุปสงค์อุปทาน ถ้าความต้องการมาก ราคาก็จะขึ้น เช่น ราคาตลาดโลกตอนนี้เฉลี่ย 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอนเครดิต แต่สิงคโปร์อยู่ที่ 34 ดอลลาร์สหรัฐ แต่หลังจากนี้สิงคโปร์ก็จะปรับราคาขึ้นไปในอนาคตอีก

“ไทยจะต้องนำปัจจัยเหล่านี้มาคำนวณราคา ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก แต่ความยากอยู่ตรงที่การจะนำผู้ประกอบการขนาดใหญ่ กลาง เล็ก คนทั่วไป เกษตรกร เข้ามามีส่วนร่วม ในการทำคาร์บอนเครดิต โดยรัฐบาลมีหน้าที่จะต้องสร้างให้เกิดความเข้าใจให้ประชาชน“

ส่วนการเทรดยังไม่กำหนดว่าจะมีการเก็บภาษีจากกำไร หรือแคปปิตอล เกน ไหม แต่เบื้องต้นถ้าซื้อขายในตลาดที่เตรียมไว้ ก็จะไม่มีการเก็บภาษีอยู่แล้ว ในส่วนการเก็บภาษี คาร์บอน ขณะนี้หลายประเทศได้เริ่มแล้ว เช่น สิงคโปร์ สำหรับไทยก็กำลังพิจารณาว่าจะมีการเก็บภาษีขาเข้าอย่างไร ซึ่งน่าจะมีคำตอบในเร็วๆ นี้