กนง.เกาะติด 4 ปัจจัย ชี้ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายปี 67

27 ส.ค. 2567 | 23:00 น.

กนง.เกาะติด 4 ปัจจัย ดูความชัดเจน 2-3 เดือนข้างหน้าก่อนตัดสินใจดอกเบี้ยนโยบาย ตลาดประเมินแรงส่งเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง เหลือเพียงการท่องเที่ยวที่จะดันจีดีพีโตได้ตามเป้า ยันมาตรการกระตุ้นระยะสั้นยังจำเป็น พยุงการบริโภค-ลงทุนที่เริ่มแผ่ว

KEY

POINTS

  • การเติบโตของเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังนี้ มีแนวโน้มจะยังคงขยายตัวจากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ แต่การส่งออกยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อการพิจารณาดอกเบี้ยในอนาคต
  • อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ แม้จะไม่เป็นปัญหาหลัก แต่มาจากปัจจัยเฉพาะ (เช่น ราคาสินค้าอาหาร) ซึ่งอาจต้องติดตามผลกระทบในระยะยาว
  • กนง. จะติดตามคุณภาพสินเชื่อและหนี้ครัวเรือน เพื่อประเมินความเสี่ยงและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4 ของปีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 มีมติ 6:1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปีต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 นับจากวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวทั้งจากการท่องเที่ยว และอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่การส่งออก โดยรวมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 

กนง.ตามดูพัฒนาการเศรษฐกิจ 4 ด้าน

ดร.ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กนง.กำลังดูพัฒนาการเศรษฐกิจในหลายด้านทั้ง

ดร.ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

  1. เศรษฐกิจภาพรวมที่เห็นจากข้อมูลเดือนกรกฎาคมยังเป็นบวก
  2. อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้้ยังไม่เป็นประเด็น แม้จะอยู่ในระดับต่ำ แต่ไม่ได้มาจากอุปสงค์อ่อนแอ มาจาก ปัจจัยเฉพาะ (อาหารสด)
  3. ภาวะการเงิน เพื่อดูความชัดเจนของคุณภาพสินเชื่อ และหนี้ครัวเรือน
  4. ดอกเบี้ยนโยบาย ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) 

“ปัจจัยหลักที่กนง.มองคือ ภายในประเทศ ทั้งภาวะการเงินที่มาเชื่อมโยงกับภาวะของเศรษฐกิจ ว่าจะมีอะไรทบทวนหรือไม่ แต่จุดยืนปัจจุบันตามที่มองไว้ถือว่า มีความเป็นกลาง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลงไปมากนั้นเป็นไปตามที่คาดไว้ รวมถึงการลงทุนภาครัฐ ดังนั้นจึงต้องรอดูความชัดเจนในอีก 2-3 เดือนในระยะข้างหน้า” ดร.ปิติกล่าว 

"ท่องเที่ยว"เครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจครึ่งปีหลังเหลือเพียงการท่องเที่ยว

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)

ซึ่งประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ 35 ล้านคนเติบโต 25% ซึ่งเป็นแรงส่งที่ดี ที่สำคัญต้องทำให้มั่นใจว่า เครื่องยนต์อื่นต้องไม่ดับ โดยเฉพาะการลงทุนกับการส่งออก ขณะที่ภายในประเทศไม่ดีนัก 

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ปัจจัยเหล่านี้เป็นโจทย์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นจะต้องพิจารณาการกระตุ้นเพื่อผยุงเศรษฐกิจในประเทศให้ไปได้ เพราะถ้าเศรษฐกิจแผ่วขึ้นมาก็จะเหนื่อย ส่วนโจทย์ระยะกลางกับระยะยาวต้องพยายามดึงการลงทุนเข้ามาจากต่างประเทศ และระยะยาวคือ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทั้งจำนวนประชากรวัยแรงงานลง เศรษฐกิจไม่โต ศักยภาพการแข่งขัน  

อย่างไรก็ตาม KKP ยังคงประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยอมรับว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แนวโน้มการแข่งขันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากต่างประเทศเริ่มตั้งกำแพงภาษี (สหรัฐ ยุโรป แคนาดาเริ่มปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ หรืออินโดนีเซีย)

กนง.เกาะติด 4 ปัจจัย ชี้ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายปี 67

ดังนั้นประเทศไทยอาจจะต้องกลับมาทบทวน แม้กระทั่งการดึงดูดการลงทุนจากจีนจะทำอย่างไรให้ผู้ผลิตในประเทศได้รับสิทธิประโยชน์ด้วย เช่น การกำหนดอัตราส่วนต่ำสุดของ วัตถุดิบภายในประเทศที่ใช้ในการผลิตเป็นแหล่งกำเนิด (Local Content : LC)

“ครึ่งปีหลังเราเห็นการลงทุนกับการบริโภคเริ่มแผ่ว ส่วนหนึ่งมาจากสถาบันการเงินเผชิญปัญหาหนี้เสียทำให้ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ เศรษฐกิจก็จะแย่และกลายเป็นหนี้เสียอีกรอบ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาน่าเป็นห่วง เห็นชัดว่า ไตรมาส 2 การลงทุนเอกชนติดลบมาก โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ครึ่งปีหลังจะต้องทำให้ได้สัก 3.5% แต่มีสัญญาณหลายอย่างที่เครื่องจักรเศรษฐกิจดูเหมือนไม่ค่อยติด โจทย์ระยะสั้นมีความจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้น เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับมาจากโควิด-19 ค่อนข้างช้ามาก

จึงต้องมีแรงส่ง จึงต้องหาวิธีใช้จ่ายไม่ให้รั่วไหลหรือรั่วไหลน้อยที่สุด เพราะปัญหาของไทยคือ ถ้าทุ่มระยะสั้น มากเกินไป ทรัพยากรที่มีจำกัด ซึ่งมีต้นทุนในการใช้เงินในอนาคต จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงประโยชน์และมีทรัพยากรเพื่อใช้ในระยะยาวด้วย

สัญญาณมหภาคค่อนข้างชะลอตัว

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สัญญาณมหภาคค่อนข้างชะลอตัว โดยเฉพาะการลงทุน แม้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องงบประมาณ แต่เชิงนโยบายการเงินมีพื้นที่ผ่อนคลายมากกว่าเดิม เพื่อช่วยเสริมการรับมือกับแรงกระแทกของเศรษฐกิจที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวรอบด้าน

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย

“ในระยะหลังเฟดมีความชัดเจนว่า น่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายเร็วๆนี้ ซึ่งไทยอาจจะพิจารณาจังหวะเวลา เพราะความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินก็น่าจะน้อยลง ถ้าจะลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่กนง. รอเฟดลดดอกเบี้ยก่อน”

หลังก.ย.จะเห็นทิศทางดอกเบี้ยชัดขึ้น

นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่ม บริหารจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล TTB กล่าวว่า  หลังเฟดประชุมในเดือนกันยายน จะเห็นทิศทางดอกเบี้ยนโยบายโลกและไทยชัดขึ้น แต่ขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาเรื่องหนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่พยายามเร่งหาวิธีการลดภาระหนี้ดังกล่าว เพราะแม้ว่าลูกหนี้จะผ่อนชำระหนี้ แต่มูลหนี้เงินต้นยังลดลงค่อนข้างช้า ซึ่งประเด็นนี้นโยบายการเงินมีส่วนช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือน  

นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่ม บริหารจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล TTB

“หนี้ครัวเรือนยังเป็นประเด็นที่ต้องหาจุดสมดุล ต้องทำให้หนี้เงินต้นของลูกหนี้ปรับลดลงอย่างเห็นได้ชัดเพื่อตัดออกจากวงจรหนี้ ส่วนผู้ประกอบการ SMEsไทย โดยเฉพาะเป็นภาคการผลิตและเทรดดิ้งยังเหนื่อย เพราะเผชิญกับการแข่งขันเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและสินค้านำเข้าจากจีน ยิ่งทำให้ภาคการผลิตเหนื่อย” นายนริศกล่าว

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,021 วันที่ 25 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2567