บัญชี FCD (Foreign Currency Deposit) คือ บัญชีเงินฝากสำหรับบุคคลธรรมดาหรือ นิติบุคคลที่ต้องการฝากเงินเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ต่างๆในไทยให้บริการรับฝากอยู่มากกว่า 15 สกุล ไม่ว่าจะเป็น ดอลลาร์สหรัฐ (USD)เยน (JPY) ยูโร (EUR) หยวน (CNY) และสกุลอื่นๆ โดยเปิดบัญชีได้ทั้ง ในรูปแบบกระแสรายวัน ออมทรัพย์ และฝากประจำ
ปลายปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์บัญชี FCD ครั้งใหญ่ เป็นการปลดล็อคให้คนไทยทุกคนสามารถใช้บัญชี FCD ได้ง่ายขึ้นเหมือนกับการใช้บัญชีเงินบาท สามารถซื้อเงินตราต่างประเทศและเก็บเงินฝากในบัญชี FCD ได้ โดยไม่จำกัดจำนวน และสามารถโอนบัญชี FCD ระหว่างคนไทยได้
ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต่าง ให้บริการบัญชี FCD โดยเฉพาะปัจจุบันที่ี่อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐสูงถึง 5.25%ต่อปี กลายเป็นโปรโมชั่นพิเศษในหลายธนาคารจับจังหวะเสนอบริการโปรโมชั่นพิเศษ สำหรับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ด้วยส่วนต่างดอกเบี้ยที่จูงใจ 1-2% จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.50%ต่อปี
เห็นได้จากธนาคาร เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP เริ่มใช้อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2567 โดย ฝากประจำพิเศษอายุ 3เดือน สำหรับบุคคลธรรมดา ดอกเบี้ยจ่าย 4.80%ต่อปี ส่วนนิติบุคคลจ่ายดอกเบี้ย 4.50%ต่อปี กรณีอายุการฝาก 6เดือนบุคคลธรรมดาจ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 5.00%ต่อปีและนิติบุคคลจ่ายที่อัตรา 4.60%ต่อปี
ถัดมาคือธนาคาร ทีเอ็มบีธนชาติ (ttb) เริ่มใช้อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ 15สิงหาคม 2567 โดยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อายุการฝาก 1เดือนจ่ายดอกเบี้ย 3.50%ต่อปี อายุ 3เดือนจ่ายดอกเบี้ย 5.10%ต่อเดือน อายุ 6เดือนจ่ายดอกเบี้ย 5.0% ต่อปี อายุ 9 เดือนจ่ายดอกเบี้ย 4.50% ต่อปี และอายุ 10 เดือนจ่ายดอกเบี้ย 4.30% ต่อปี ส่วนนิติบุคคลจ่ายดอกเบี้ย 0.10% 0.20% 0.30% 0.50%และ 0.60% ต่อปีตามลำดับ
ค่ายไทยพาณิชย์ จ่ายดอกเบี้ยสูง 5.0%ต่อปี สำหรับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ระยะเวลาฝาก 3เดือน ส่วนระยะเวลาฝาก 6เดือนจ่ายดอกเบี้ยที่อัตรา 5.1% ต่อปี ขณะที่สกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิงอายุการฝาก 3เดือนจ่ายดอกเบี้ย 4.60%ต่อปี สกุลเงินยูโร อายุ 3เดือน จ่ายดอกเบี้ย 3.25%ต่อปี
ตามมาด้วย ธนาคารกรุงไทย สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอายุ 4 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 5.20% ต่อปี ส่วนสกุลเงินปอนด์อายุ 3 เดือนจ่ายดอกเบี้ย 4.60% ยูโร 3.25% รับฝากจนถึงวันที่ 30 ก.ย.2567 และธนาคาร ไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) 29 มี.ค.67 สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินฝากประจำทั้งบุคคคลธรรมดาและนิติบุคคลจ่ายดอกเบี้ยเท่ากันคือ อายุ 1 เดือนจ่ายดอกเบี้ย 3.50% ต่อปี อายุ 3เดือน 3.90%ต่อปี อายุ 6เดือน 9เดือนและ 12เดือนจ่ายดอกเบี้ยอัตราเท่ากันที่ 4.20%
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เมื่อมีการถอนเงินจากบัญชี FCD แล้วแทนที่จะได้ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยตามกำหนดของธนาคาร แต่กลับมาขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนแทน
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า บัญชีเงินฝาก FCD เป็นประเภทบัญชีที่ผู้ฝากเปิดบัญชีไว้เพื่อหลบความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นัยความหมายคือ ผู้ฝากต้องมีจังหวะเวลาที่ตัวเองต้องสัญญาไว้ ถ้ามีธุรกรรมชำระเงินทั้งสองขาเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ การบริหารรายได้และรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้อยู่ในสกุลเดียวกัน (Natural Hedge) กรณี Natural Hedge จะดีมากสำหรับผู้ฝาก
เช่น บริษัท /นิติบุคคลที่รับชำระค่าสินค้าหรือบริการเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจากลูกค้าในต่างประเทศโดยที่บริษัทดังกล่าวมีแผนจะต้องจ่ายหรือชำระเงินออกในอีกประมาณ 1-2เดือน กรณีนี้สามารถนำเงินไว้ในบัญชี FCD จะสามารถปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ดี ซึ่งกรณีหลายธนาคารโปรโมทบัญชีเงินฝาก FCD สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยจ่ายดอกเบี้ยพิเศษนั้น เป็นโปรเจ็คเพื่อรองรับลูกค้าที่มีสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่แล้ว
สำหรับผู้ที่ต้องการเปิดบีเงินฝาก FCD ที่ไม่มีสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐสามารถเปิดบัญชีกับธนาคารอื่น เพื่อแลกเงินดอลลาร์ให้เรียบร้อย จากนั้นโอนเงินมาเข้าFCDของธนาคารที่เจ้าตัวต้องการจะเปิดบัญชี ซึ่วกรณีนี้จะมีค่าธรรมเนียมการโอนเงินด้วย(อัตราขึ้นกับแต่ละธนาคารกำหนด) ขณะที่บางธนาคารก็จะเสนอสิทธิพิเศษโดยกำหนดวงเงินฝากขั้นต่ำเพื่อจะรับสิทธิสมาชิกกลุ่มมั่งคั้ง (Wealth)
นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการฝากเงินในบัญชี FCD คือ Hedge USDTHB ผ่านฟิวเจอร์ส โดย ฟิวเจอร์ 1สัญญาประมาณ 1,000USD หมายความว่า กรณีนี้จะต้องใช้ 27-28 สัญญา สำหรับ Fully Hedged แปลว่า จะต้องใช้เงิน 1 ล้านบวกอีก 50,000บาท
ทั้งนี้หากใช้สมมติฐานเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 36.25 บาท/ดอลลาร์ โดยในอีก 4เดือนข้างหน้า จะอยู่ที่ 34.50-35บาท สมมติวงเงินฝาก 1ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยนที่ 36.50บาท ซึ่งหากแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าผู้ฝากยังได้รับประโยชน์ แต่ในทางตรงกันข้าม เงินบาทแข็งค่าต่ำกว่า 36.50 กรณีนี้ผู้ฝากเงินย่อมไม่ได้รับประโยชน์ตามที่คาดหวัง
“บัญชีเงินฝาก FCD จึงเหมาะสำหรับ Natural Hedge ซึ่งสามารถบริหารความเสี่ยงจาก FX แต่ไม่ควรเปิดบัญชี FCD เพื่อลงทุน สำหรับคนทั่วไป หรือเพื่อหาดอกดอกผลที่อัตรา 5% เพราะเมื่อครบกำหนดอายุของบัญชีเงินฝากไม่ว่า 3 เดือนหรือ 6 เดือน Spot อัตราแลกเปลี่ยนช่วงนั้น จะเกิด Gain / Loss ขึ้นเมื่อเทียบกับวันที่เปิดบัญชีดังกล่าว”
หรือหากจะเป็นเจ้าของบัญชี FCD ก็ต้องปิดความเสี่ยงด้วยการซื้อฟอร์เวิร์ส ซึ่งมีต้นทุนในส่วนนี้อีก คำแนะนำคือ จริงๆ ถ้าเป็นเงินบาท สามารถเลือกลงทุนในTerm Fund หรือลงทุนตราสารหนี้ของธปท.ก็จะได้ผลตอบแทนต่อปี 2.0%
สอดคล้องกับแหล่งข่าวอีกรายให้ข้อมูลว่า ในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค.ปีนี้ที่เงินบาทแข็งค่า หากผู้ฝากเงินในบัญชี FCD ถอนเงินออกเลย นอกจากจะไม่ได้รับอัตราดอกเบี้ยแล้ว ยังมีโอกาสขาดทุน FX เพราะ 3เดือนที่แล้ว ไม่ใช่ rate ในวันที่ถอนออก ส่วนจะถอนเงินสกุลเงินดอลลาร์ ด้วยการโยกเงินไปบัญชีเงินลงทุนหรือเพื่อซื้อสินทรัพย์ต่างประเทศ ตรงนี้จะมีค่าธรรมเนียมในการโอนของยอดเงินที่โอน แม้จะไม่แปลงสกุลเงิน(convert)
ดังนั้น บางธนาคารเสนอบริการผลิตภัณฑ์ FCD ไว้หลากหลาย เช่น ลงทุนทองคำ ลงทุนสินทรัพย์ในต่างประเทศฯลฯ ถ้าโอนปลายทางเป็นบัญชี FCD เหมือนกันแต่ละธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียม รวมถึงการโอนต่างธนาคารหรือโอนธนาคารในต่างประเทศเหล่านี้จะโดนค่าธรรมเนียมอีก หรือหากจะทิ้งเงินไว้ในบัญชี FCD เพื่อรับดอกเบี้ยที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ 4-5%ต่อปี หากเงินบาทแข็งค่า ก็ไม่ใช่จะได้รับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว
“เงินฝากบัญชี FCD เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ผู้ใช้บริการต้องศึกษาอย่างดี เพราะข้อดีคือ ปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้วจะมีกำไรได้ แต่เหมือนเหรียญ 2ด้านคือ จะมีทั้ง Gain / Loss จากช่วงเวลาที่ต่างกัน ,ดอกเบี้ยระหว่างบุคคลธรรมดากับนิติบุคคลบางแบงก์กำหนดแตกต่างกัน”
เช่น นิติบุคคลอาจจะได้รับในอัตราต่ำกว่าหรือไม่ได้รับ, เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศที่ไม่ได้การคุ้มครองจากสคฝ. ส่วนใหญ่เป็นโปรดักส์ระยะสั้น ซึ่งต้องเสียภาษี 15% รวมถึงค่าธรรมเนียมจิปาถะ ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทธุรกรรมที่จะถอนออกจากบัญชีนี้ หรือกำหนดวงเงินเปิดบัญชีขั้นต่ำ (ขึ้นอยู่ประเภทสกุลเงิน)หรือบางแบงก์กำหนดวงเงินขั้นต่ำสำหรับการนำฝากในครั้งต่อไป
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ยอดคงค้างบัญชี FCD ช่วง 7 เดือนแรกปี2567 มีจำนวน 21,643 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากนิติบุคคล(บริษัทต่างๆ)เกือบ 93%หรือประมาณ 20,021ล้านดอลลาร์ เป็นประเภทบัญชี CASA (บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และออมทรัพย์)
สำหรับประเภทผู้ฝากพบว่า มีจำนวนบัญชีกว่า 922,654 บัญชี ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดาในสัดส่วน 92.5% หรือจำนวน 853,657 บัญชี ซึ่งสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยังเป็นสกุลเงินหลักที่ผู้ฝากเลือกใช้บริการ ส่วนหนึ่งเพราะสกุลเงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงเป็นเวลานาน
หากเทียบสิ้นเดือนก.ค. 2567 กับช่วงเดียวกันปีก่อนพบว่า ยอดคงค้างเงินฝาก FCD เพิ่มขึ้น 28.7% เป็นจำนวน 21,654 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาก 16,8201 ล้านดอลลาร์สหรัฐช่วงเดียวกันปีก่อน
โดยพบว่าบัญชีเงินฝากประจำเพิ่มขึ้น 47.5% รองลงมาเป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์/จ่ายคืนเมื่อทวงถามเพิ่มขึ้น 20.8% และเงินฝากกระแสรายวันขยับเพิ่ม 1.8% โดยเงินฝากประจำทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้น 38.8% เมื่อเทียบณสิ้นปี2566 อยู่ที่ 20,248 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“หากย้อนข้อมูลตั้งแต่บัญชีเงินฝาก FCD เริ่มเปิดให้บริการในปี 2554 -ก.ค.2567 พบว่าเติบโตทุกปี ยกเว้นปี 2564 ที่หดตัวกว่า 12% เพราะเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด โดยเงินฝากFCD ณ สิ้นไตรมาส 2/6 มีสัดส่วน 6.6% ของภาพรวมเงินฝากทั้งหมดของระบบธนาคารพาณิชย์ เข้าใจ ว่าคนไทยเห็นความสำคัญในการป้องกันความเสี่ยงได้ตามความเสี่ยงที่มีเพิ่มขึ้น”นางสาวกาญจนากล่าว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,024 วันที่ 5 - 7 กันยายน พ.ศ. 2567