ส่งออกอาหารลุ้น 1.6 ล้านล้าน ผวาบาทแข็ง-น้ำท่วมทำสะดุด

30 ส.ค. 2567 | 00:39 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ส.ค. 2567 | 07:52 น.

สินค้าอาหารลุ้นระทึกเป้าส่งออก 1.6 ล้านล้านบาท กังวลโค้งสุดท้ายบาทแข็งค่าทำขาดทุน กระทบรับออเดอร์ส่งมอบปลายปี ขณะห่วงน้ำท่วมทำวัตถุดิบขาดแคลน “ข้าว” จับตาอินเดียเลิกแบนส่งออกข้าวขาวไตรมาส 4 ฉุดราคาข้าวโลก กระทบไทย “ยางพารา” มั่นใจส่งออกทั้งปีนี้โตไม่ต่ำ 30%

กระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนกรกฎาคม 2567 มีมูลค่า 25,720.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (9.38 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 15.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของความต้องการซื้อสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก ตามการขยายตัวของเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญได้รับประโยชน์ด้านราคาที่สูงขึ้นจากภาวะอุปทานในตลาดโลกที่น้อยลง ขณะภาพรวมการส่งออกไทยช่วง 7 เดือนแรกปี 2567 มีมูลค่า 171,010.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.12 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 3.8%

ส่งออกอาหารลุ้น 1.6 ล้านล้าน ผวาบาทแข็ง-น้ำท่วมทำสะดุด

อย่างไรก็ดีในเดือนที่เหลือของปีนี้ การส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่ในประเทศ และเกี่ยวข้องกับเกษตรกรและโรงงานแปรรูปส่งออก ทิศทางยังผันผวน จากปัจจัยเสี่ยงเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จากครึ่งปีแรกเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุด(29 ส.ค. 67) แข็งค่าที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออก และยังมีสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบพืชผลทางการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบได้รับความเสียหาย

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารช่วง 7 เดือนแรกปี 2567 ยังมีทิศทางที่ดี อาทิ สินค้าข้าว ส่งออกแล้วมูลค่า 132,396 ล้านบาท (+51%) , ไก่ 87,012 ล้านบาท (+10%), อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 75,714 ล้านบาท (+12%), ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 43,283 ล้านบาท (+23%) , อาหารสัตว์เลี้ยง 61,769 ล้านบาท (+33%) สิ่งปรุงรสอาหาร 21,583 ล้านบาท (+17%) และเครื่องดื่ม 44,923 ล้านบาท (+6%) เป็นต้น

ส่วนสินค้าอาหารที่การส่งออกยังขยายตัวติดลบ เนื่องจากขาดแคลนผลผลิต /ความต้องการของตลาดปรับตัวลดลง แต่สถานการณ์ล่าสุดมีแนวโน้มทำตัวเลขได้ดีขึ้น เช่น ผลไม้ สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป

ทั้งนี้จากที่ 3 สถาบันได้แก่ สถาบันอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ตั้งเป้าส่งออกสินค้าอาหารของไทยในปีนี้ที่ 1.65 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.8% ยังมั่นใจที่จะมีความเป็นไปได้ อย่างไรก็ดียอมรับว่ายังมีความกังวลปัจจัยเสี่ยงจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงรายได้และกำไรของผู้ส่งออกจะหดตัวลง และบางรายอาจขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

เนื่องจากเวลานี้เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นอยู่ที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้นถึง 7% จากก่อนหน้านี้ค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐทำให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลักยังสามารถแข่งขันได้ดี แต่เวลานี้มีทิศทางตรงข้ามกัน

“ในหนึ่งเดือนที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นมา 2 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้นถึง 7% เท่ากับว่าถ้าผู้ส่งออกที่บวกกำไรไว้ไม่ถึง 7% ก็ขาดทุน เวลานี้ผู้ส่งออก 60-70% ได้ปิดการขายไปแล้ว และจะทำการส่งมอบสินค้าไปถึงสิ้นปี โดยคนที่ไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน หรือทำฟอร์เวิร์ดไว้ก็มีโอกาสขาดทุน

การแข็งค่าขึ้นมา 7% ถือว่าผิดปกติมาก เพราะไม่ได้แข็งค่าจากเศรษฐกิจเราดี ซึ่งอยากให้ภาครัฐช่วยกำกับดูแล เพราะบาทแข็งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อผู้ส่งออกเป็นอันดับต้น ๆ จากก่อนหน้านี้มีปัจจัยเสี่ยงจากสงคราม ทำให้ค่าระวางเรือ ค่าตู้คอนเทนเนอร์ยังอยู่ในระดับสูง”

ขณะเดียวกันจากที่เวลานี้มีสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดทางภาคเหนือและมีความเสี่ยงในพื้นที่ภาคกลางอาจกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรเสียหายในพื้นที่ลุ่ม อาจทำให้วัตถุดิบขาดช่วง กระทบต่อโรงงานแปรรูปส่งออก ส่วนพืชไร่ที่ปลูกในพื้นที่เนิน เวลานี้ยังไม่กระทบซึ่ง ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า จากเงินบาทที่แข็งค่ามากที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเวลานี้ เป็นการแข็งค่าที่เร็ว และแข็งค่ามาก เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค รองจากค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งต่อการส่งออกของไทยในเวลานี้ จากครึ่งปีแรกเงินบาทไทยอ่อนค่า ทรงตัวเฉลี่ยที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยได้อานิสงส์ในการแข่งขันด้านราคาสินค้าส่งออก แต่ตอนนี้ต้องเฝ้าจับตามองเป็นพิเศษ เพราะจะมีผลต่อการส่งออกของในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ที่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองเรื่องราคาสินค้ากับคู่ค้าเพื่อส่งมอบในไตรมาสที่ 4

สำหรับสินค้าของไทยที่จะได้รับผลกระทบมาก จากการแข็งค่าเงินบาท อยู่ในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล เป็นต้น โดยผู้ส่งออกที่เกรงจะได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่า คงต้องทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน เพราะทุก ๆ 1 บาทที่แข็งค่าขึ้นต่อดอลลาร์สหรัฐ มีผลทำให้รายได้จากการส่งออกของไทยหายไปไปมากกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อเดือน จากค่าเฉลี่ยไทยส่งออก 2.3-2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาสมาคมฯได้ปรับคาดการณ์ส่งออกข้าวจาก 7.5 ล้านตัน เป็น 8.2 ล้านตัน (7 เดือนแรกส่งออกแล้ว 5.68 ล้านตัน) จากช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกข้าวไทยไปทุกตลาดยังขยายตัวดีต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งผลพวงจากเงินบาทช่วงต้นปีอ่อนค่าอยูที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา และเป็นผลจากอินเดียยังคงจำกัดการส่งออกข้าวในกลุ่มข้าวขาว ทำให้ไทยส่งออกในกลุ่มข้าวขาวได้มากขึ้นและในราคาที่ดี

ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวในเดือนที่เหลือของปีนี้คาดจะยังเติบโตแต่ไม่หวือหวาเหมือนในครึ่งปีแรก จากเงินบาทที่แข็งค่า กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา อีกด้านหนึ่งต้องจับตาอินเดียที่ผู้ส่งออกพยายามกดดันรัฐบาลให้สามารถกลับมาส่งออกในกลุ่มข้าวขาวได้อีกครั้ง (อินเดียประกาศมาตรการห้ามส่งอกข้าวขาวตั้งแต่ 20 ก.ค. 2566 เพื่อควบคุมราคาในประเทศและรักษาความมั่นคงด้านอาหาร) จากปีนี้ปริมาณฝนของอินเดียค่อนข้างดีและจะทำให้มีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น มีโอกาสที่รัฐบาลอินเดียจะอนุญาตให้ส่งออกข้าวในกลุ่มข้าวขาวในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ หากเป็นไปตามคาดจะส่งผลกระทบราคาข้าวขาวของไทยในตลาดโลกปรับตัวลดลง จากที่ผ่านมาราคาข้าวขาว 5% ของอินเดียจะต่ำกว่าไทย 40-50 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า คาดถึงสิ้นปีนี้ด้านมูลค่าการส่งออกยางพาราของไทยจะขยายตัวเป็นบวกไม่ต่ำกว่า 30% (ปี 2566 ไทยส่งออกยางพารา 2.7 ล้านตัน มูลค่า 125,923 ล้านบาท) จากราคายางในประเทศและราคายางส่งออกในปีนี้สูงกว่าปีที่แล้ว 30-40% อย่างไรก็ดีด้านปริมาณการส่งออกปีนี้จะลดลง จากผลผลิตในประเทศจะลดลงประมาณ 5-10% จากก่อนหน้านี้ไทยประสบภาวะภัยแล้ง

ขณะที่เวลานี้มีสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือรวมถึงต้องจับตาสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ช่วงปลายปีนี้ว่าจะเกิดน้ำท่วมและทำให้ผลผลิตยางพาราได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด เพราะเมื่อเกิดน้ำท่วมแม้ต้นยางจะไม่ตาย แต่จะทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้

“การส่งออกยางพาราของไทยแง่ปริมาณนับจากนี้มีแนวโน้มลดลง จาก 1.ผลผลิตยางลดลง 2. มีการใช้วัตถุดิบยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น จากมีโรงงานผลิตล้อยางรถยนต์หลายค่ายจากต่างประเทศเข้ามาตั้งฐานการผลิต ส่งผลให้มีการใช้ยางพาราในประเทศกว่า 1.2 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 25% ของผลผลิต”

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่  4023 วันที่  1- 4 กันยายน พ.ศ. 2567