แบงก์ชาติพร้อมเข้าดูแลเงินบาท หากผันผวนสูงเกินต่อเนื่อง

30 ส.ค. 2567 | 10:48 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ย. 2567 | 07:37 น.

แบงก์ชาติแจง บาทแข็งมาจากหลายปัจจัย ส่วนใหญ่มาจากภายนอก จับตาความผันผวน พร้อมเข้าดูแลหากผันผวนสูงเกินอย่างต่อเนื่อง

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ธปท.จะให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความผันผวนสูงอย่างต่อเนื่องมากกว่า โดยจะดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากเกินไป จนส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจไม่สามารถปรับตัวรับกับความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนได้ 

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

ส่วนกรณีที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้น ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมาจากหลายด้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากปัจจัยภายนอก ดังนั้นในแง่แนวโน้มก็ต้องให้เป็นไปตามทิศทางของโลก

"สิ่งที่เรามอง คือเรื่องของความผันผวนมากกว่า ในแง่แนวโน้ม ก็คงต้องเป็นไปตามนั้น เพราะปัจจัยเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทส่วนใหญ่ มาจากภายนอก ก็ต้องเป็นตามนั้น เพียงแต่เราต้องดูไม่ให้ผันผวนเกินไป และไม่ให้ภาคธุรกิจรู้สึกว่าไม่สามารถปรับตัวได้ทัน" โฆษกธปท.กล่าว

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการภาคธุรกิจปัจจุบัน มีความสามารถในการรับมือกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้มากขึ้น โดยเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงได้ดี ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีความเข้มแข็ง ภายใต้ภาวะการเงินโลกในปัจจุบันที่มีความผันผวนสูงขึ้น

ดังนั้นด้วยแนวโน้มและภาวะการเงินโลกในปัจจุบันที่มีความผันผวนสูง และเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทุกคนต้องเก่งขึ้นไปด้วยกัน ถ้ามุมที่แบงก์ชาติดู คงดูในมุมที่มีความผันผวนสูงเกินไปอย่างต่อเนื่อง แต่เราก็เห็นนักธุรกิจใช้ option มากขึ้น น่าจะเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่เหมาะสม

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลัง จะพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย ในการดำเนินการเรื่องการใช้ภาษีเพื่อช่วยเหลือหรืออุดหนุนผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ (Negative Income Tax) ซึ่งเป็นข้อเสนอของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากจะส่งผลหลายด้าน ซึ่งอาจมีทั้งผลดี ผลเสีย และผลข้างเคียง

"ต้องไปศึกษา เพราะกระทบหลายด้าน ทั้งรายรับของภาครัฐ รายจ่าย รวมทั้งผลดี ผลเสีย ผลข้างเคียง คงต้องไปศึกษาเพิ่มเติมก่อน" น.ส.ชญาวดี ระบุ

แบงก์ชาติพร้อมเข้าดูแลเงินบาท หากผันผวนสูงเกินต่อเนื่อง

ส่วนภาวะเศรษฐกิจการเงินเดือนก.ค.67 เศรษฐกิจไทยโดยรวมปรับดีขึ้น หลังชะลอลงในเดือนก่อนหน้า ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ โดยการส่งออกสินค้า และรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวเนื่องขยายตัว ด้านการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากเดือนก่อน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ และผู้บริโภคยังลดลง ส่วนหนึ่งจากความกังวลด้านเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำ และลงทุนของรัฐบาลกลาง ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ หดตัวตามการเบิกจ่ายของโครงการด้านคมนาคม