KEY
POINTS
ระดับหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากระดับ 14.19 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วน 84.1%ต่อจีดีพีเมื่อสิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ระดับ 16.37 ล้านล้านบาทคิดเป็น 90.8% ของจีดีพีเพิ่มขึ้นถึง 2.18 ล้านล้านบาทหรือ 15.36% ทำให้รัฐบาลตต้องตั้งเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ
โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ภายใต้ปรัชญา ที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน
ควบคู่กับการเพิ่มความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย โดยจะดำเนินนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์
ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรได้แสดงวิสัยทัศน์ในงาน Vision for Thailand 2024 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านเกี่ยวกับการแก้หนี้ครัวเรือนคือ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินู(FIDF)ลง ครึ่งหนึ่ง จากปัจจุบันที่นำส่งในอัตรา 0.46%ของเงินฝาก เพื่อให้นำเงินอีกครึ่งหนึ่งไปช่วยเหลือลูกหนี้
ขณะเดียวกันยังเสนอให้มีการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์(เอเอ็มซี)ของรัฐ เพื่อให้รัฐบาลซื้อหนี้กลับมาบริหารเอง โดยให้ราคาส่วนลด 50% จากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ตั้งสำรองครบ 100% แล้วเมื่อขายหนี้ออกมาก็จะสามารถตีกลับเป็นกำไรในทางบัญชีได้อีก 50%
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมแนวทางแก้ไขหนี้ประชาชน โดยจะมีการจัดทำ “อารีย์ สกอร์” ซึ่งเป็นการทำเครดิตสกอริ่ง หรือ คะแนนเครดิต จากข้อมูลที่กระทรวงการคลังมี คาดว่า จะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนี้ ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนรายย่อยและเอสเอ็มอีในการเข้าถึงสินเชื่อได้
“ก่อนหน้า กระทรวงการคลังได้จัดทำโครงการแก้ไขหนี้ข้าราชการกว่า 2 ล้านคนไปแล้วผ่านธนาคารกรุงไทย ซึ่งยอมรับว่า การแก้ไขหนี้ให้กับประชาชนทุกภาคส่วนไม่ใช่เรื่องง่าย"
อย่างไรก็ตาม ด้วยบทบาทของกระทรวงการคลังสามารถดำเนินการได้ผ่าน “อารีย์ สกอร์” เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ซึ่งไม่ได้เป็นรูปแบบเดียวกันกับสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (National Credit Guarantee Agency: NaCGA)
ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะจัดทำเครดิตสกอริ่งให้กับทุกคน เพื่อให้ใช้เครดิตสกอริ่งไปขอสินเชื่อผ่านธนาคารรัฐ 4 แห่ง ซึ่งในอนาคตอาจจะไม่ใช้เครดิตบูโร ทำให้คนที่ติดแบล็คลิสเครดิตบูโรสามารถใช้เครดิตสกอริ่งขอสินเชื่อแทนได้ โดย ธนาคารรัฐ 4 แห่งคือ
ปัจจุบันกระทรวงการคลังมีข้อมูลของคนไทยอยู่แล้ว 60 ล้านคนที่จัดเป็น Balance Sheet เช่น มีทรัพย์สินเท่าใด รายได้เท่าไหร่ และรับสวัสดิการของรัฐอย่างไร ซึ่งรวบรวมมาจากเครดิตบูโร สถาบันคุ้มครองเงินฝาก และกรมภาษีทั้งหมด รวมทั้งจะดูคะแนนเครดิตของประชาชนจากประวัติการชำระค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เพื่อมาจัดทำเป็นคะแนนเครดิต
“คณะทำงานคาดว่า จะจัดทำเสร็จภายใน 3 เดือน เพราะจะนำระบบเอไอมาใช้และดำเนินการผ่านกระทรวงการคลังโดยตรง อย่างคนที่มีคะแนน 8 เต็ม 10 ก็สามารถขอกู้สินเชื่อได้เลย 30,000 บาท ทำให้ประชาชนสามารถกู้เงินในระบบ เพื่อไปรีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบได้ อย่างน้อยภาระการผ่อนของประชาชนจะลดลง”
ขณะเดียวกันจากข้อมูลประชาชนที่กระทรวงการคลังมีนั้น หากรัฐบาลจะดำเนินการใช้ระบบ Negative Income Tax ก็สามารถดำเนินการได้เลย จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่เสียภาษี รวมทั้งประชาชนที่รับสวัสดิการจากภาครัฐด้วย รวมทั้งสามารถนำข้อมูลประวัติชำระภาษี การยื่นแบบแสดงเงินได้บุคคลธรรมดา มาต่อยอดข้อมูลในการจัดทำเครดิตสกอริ่งได้ด้วย
นอกจากนั้น ระยะต่อไปกระทรวงการคลังจะจัดทำนโยบายในเชิงพื้นที่ ซึ่งสามารถทราบได้เลยว่า ในพื้นที่จังหวัด ตำบล หรืออำเภอนี้ มีความเข้มแข็งขนาดไหน หรือมีสิ่งที่ขาด ต้องการความช่วยเหลืออย่างไร ฉะนั้น ระยะต่อไปกระทรวงการคลังจะเห็นภาพชัดในการดูแลประชาชน
“กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ได้ศึกษาเรื่อง Negative Income Tax มานานแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนแนวคิด เพื่อที่จะให้เงินสวัสดิการแก่คนทำงาน หรือ Workfare สำหรับคนรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยเป็นการกระตุ้นให้คนทำงาน เพื่อแลกกับการได้รับเงินสวัสดิการจากรัฐ” นายลวรณกล่าว
ทั้งนี้ เชื่อว่าหากสามารถนำ Negative Income Tax มาใช้ได้ จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการของรัฐลงได้ และยังสามารถลดความซ้ำซ้อนของสวัสดิการที่รัฐให้กับประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 20 สวัสดิการ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ในแต่ละปีใช้งบประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ยืนยันว่า การใช้ Negative Income Tax จะไม่เป็นการสร้างภาระงบประมาณด้านสวัสดิการเพิ่ม เพราะหากใช้ระบบนี้อาจจะไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว
ส่วนความคืบหน้าของการดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของกระทรวงการคลังที่ร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผ่านมาตรการสินเชื่อต่างๆ
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่า ผลการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.66 -29 ส.ค.67 มีประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบได้รับอนุมัติให้ความช่วยเหลือทางการเงินไปแล้วจำนวน 17,448 ราย ยอดอนุมัติรวมทั้งสิ้น 812 ล้านบาท
ขณะที่ผลการดำเนินการเกี่ยวกับสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ล่าสุด สิ้นเดือนส.ค.67 มีนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 1,142 ราย ใน 75 จังหวัด และในสิ้นเดือนมิ.ย.67 มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยสะสมทั้งสิ้น 4.44 ล้านบัญชี รวมเป็นวงเงิน 43,212 ล้านบาท
นายสุชาติ บุญบรรเจิดศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ ไนท คลับแคปปิตอลจำกัด(มหาชน) และในฐานะนายกสมาคมบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (TAMCA)กล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขนาดของหนี้ครัวเรือนกว่า 16 ล้านล้านบาทนั้น ต้องระวังตัวเลขหนี้เสียที่อาจจะขยับขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3%หรือกว่า 5 แสนล้านบาท หากแนวโน้มจะขยับเป็นอัตรา 4-5% ก็ร่วมประมาณ 9 แสนล้านบาทหรือ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเลขที่ตลาดเฝ้าดูอยู่
ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนขึ้นมารับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพบริหารจัดการ ซึ่งเบื้องต้นมองว่า อาจจะใช้เงินกองทุนประมาณ 2-3 แสนล้านบาท เพื่อดึงหนี้ด้อยคุณภาพออกมาบริหารจัดการ
"หนี้ด้อยคุณภาพส่วนใหญ่ สถาบันการเงินเจ้าหนี้ได้ทยอยตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอยู่ในระดับสูง ค่อนข้างพอเพียงอยู่แล้ว แตกต่างจากความเสียหายที่ค่อนข้างรวดเร็วมากเมื่อวิกฤติปี 2540 ซึ่งหนี้เสียส่วนใหญ่มีกันสำรองไม่เพียงพอ"
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ “กองทุนบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพ”ที่จะจัดตั้งขึ้นนั้น ขึ้นกับนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังจะร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และบริษัทบริหารสินทรัพย์(AMC) ส่วน AMC ภาคเอกชนนั้น ส่วนตัวมองว่า ส่วนใหญ่ต่างมีต้นทุนทางการเงิน ซึ่งเป็นภาระค่อนข้างสูงอยู่แล้ว
ส่วนการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้นั้น ควรต้องมีแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำหรือซอฟต์โลนออกมา เพื่อรองรับมาตรการช่วยเหลือหนี้ด้อยคุณภาพ ซึ่งหนี้ด้อยคุณภาพเป็นเรื่องความทุกข์ยากของลูกหนี้ เป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะเมื่อเป็นหนี้เสีย โดยเฉพาะหนี้ที่อยู่ในกระบวนการของกรมบังคับคดีต้องหาทางแก้ไขให้เร็ว โดยในทางปฏิบัติ มีข้อเสนอ 3เรื่องได้แก่
“ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือจัดตั้งกองทุนบริหารจัดการหนี้ก็ตาม สิ่งสำคัญ คือ ควรคำนึงถึงการรักษาไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องวินัย คือ คนเป็นหนี้เสียต้องได้รับผลกระทบในระดับหนึ่งเพื่อมิให้ลูกหนี้ดีเสียวินัย"นายสุชาติกล่าว
ขณะที่ธุรกิจบริหารหนี้ของไทยนั้นปัจจุบันมีผู้เล่นเข้ามาหลายรอบเข้าประมูลแข่งขันด้านราคา ข้อดีมีกลไกทำให้ระบบทำงานและแข่งขันกันได้แต่โอกาสทำกำไรขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการ
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,027 วันที่ 15 - 18 กันยายน พ.ศ. 2567