หนี้ครัวเรือนไตรมาส2 ลด 3.5 หมื่นล้าน เหลือ 89.6%ของจีดีพี

09 ต.ค. 2567 | 00:27 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2567 | 00:27 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ หนี้ครัวเรือนยังกดดันศักยภาพทางเศรษฐกิจ ชี้เป็นประเด็นเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไขดูแลต่อเนื่อง แม้ไตรมาส 2 ลดลง 35,263 ล้านบาท สัดส่วนต่อจีดีพีแตะ 89.6% ต่ำสุดในรอบ 4 ปี แต่ไส้ในส่วนใหญ่ยังขยับเพิ่ม

KEY

POINTS

  • หนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 ปี 2567  ลดลง 35,263 ล้านบาท หรือ 0.22% โดยมียอดหนี้คงค้างรวม 16.32 ล้านล้านบาท แต่ยังมีการเพิ่มขึ้นในบางหมวด เช่น โรงรับจำนำและสหกรณ์ออมทรัพย์  
  • สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงจาก 90.9% เป็น 89.6% ต่ำสุดในรอบ 16 ไตรมาสหรือ 4 ปี แต่ยังสูงกว่า 80% ตามมาตรฐาน BIS  
  • ผู้เชี่ยวชาญเสนอให้มีกลไกการฟื้นฟูหนี้และกฎหมายล้มละลายสำหรับรายย่อย เพื่อช่วยให้ลูกหนี้สามารถจัดการหนี้ได้ดียิ่งขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 ปี 2567 พบว่า มียอดหนี้คงค้างรวม 16.32 ล้านล้านบาท ชะลอลง 35,263 ล้านบาทหรือลดลง 0.22% จากไตรมาสแรกที่มียอดคงค้าง 16.36 ล้านล้านบาท แต่ยังคงเพิ่มขึ้น 212,102 ล้านบาทหรือ 1.32% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 

เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน

เมื่อพิจารณาไส้ในพบว่า ส่วนใหญ่ยังขยับเพิ่มขึ้น โดยหมวดที่ปรับเพิ่มขึ้นได้แก่ โรงรับจำนำเพิ่มขึ้น 6.05% ธุรกิจบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินเพิ่ม 3.6% สหกรณ์ออมทรัพย์ 0.97% และบริษัทประกันชีวิตและประกันภัยเพิ่ม 0.12%

ขณะที่หมวดที่ปรับลดลง เช่น  บริษัทหลักทรัพย์ลดลง 4.44% ธนาคารพาณิชย์ลดลง 54,614 ล้านบาทหรือลดลง 0.86% บริษัทบัตรเครดิต ลีสซิ่งและสินเชื่อส่วนบุคคลลดลง 0.72% สถาบันการเงินอื่นลดลง 0.33% 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนพบว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 212,102 ล้านบาทหรือ 1.32% จาก 16.11 ล้านล้านบาทเป็นเป็น 16,32 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงจากระดับ 90.9% มาอยู่ที่ระดับ 89.6% 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2ปีนี้ ที่ชะลอลง 0.22% มาจากหลายสาเหตุ ทั้งการชำระคืนที่มากกว่าการปล่อยสินเชื่อใหม่ในบางหมวดทั้งธนาคารพาณิชย์ สินเชื่อรายย่อยธนาคารพาณิชย์และสินเชื่อบัตรเครดิต ลีสซิ่งและสินเชื่อส่วนบุคคล

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

"สะท้อนทั้ง 2 ฝั่งคือ ครัวเรือนระมัดระวังและฝั่งสถาบันการเงินเข้มงวดในการประเมินความสามารถในการกู้ของลูกหนี้" 

สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีเหลือ 89.6% ต่ำสุดรอบ 4 ปี 

ประกอบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)สูงกว่า จึงเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับลดลงจาก 90.7% ในไตรมาสแรกมาอยู่ที่ 89.6% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 16 ไตรมาสหรือประมาณ 4ปี ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563

“แม้ภาพใหญ่หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับลดลง แต่ระดับครัวเรือนยังพบว่า มีความหลากหลาย จึงไม่ได้สะท้อนว่า ระดับของภาระหนี้ครัวเรือนลดลง ซึ่งครัวเรือนสามารถแบกรับหนี้ได้ แต่หลายครัวเรือนมีความเปราะบางด้านรายได้และมีภาระหนี้เต็มมือ”

ขณะเดียวกัน แม้ภาพรวมหนี้ครัวเรือนปรับลดลงมาที่ 89.6% แต่ยังเป็นระดับสูงกว่าระดับ 80%ต่อจีดีพีตามที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) และธปท.ใช้วัดระดับความยั่งยืนของหนี้ครัวเรือน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1.32% 

ดังนั้นระดับของหนี้ครัวเรือนไทยยังกดดันศักยภาพทางเศรษฐกิจและเป็นประเด็นเชิงโครงสร้างต่อเนื่องที่ต้องแก้ไขและดูแลกันต่อเนื่อง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีแนวโน้มจะทบทวนประมาณการหนี้ครัวเรือน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตัวเลขที่ออกมา จากเดิมที่ประเมินไว้สิ้นปีจะอยู่ที่ประมาณ 90.7%ต่อจีดีพี

ก่อนหน้านี้ นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และหัวหน้าคณะวิจัยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand)กล่าวว่า อยากเห็น การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเชิงระบบใน 3 เรื่องใหญ่คือ

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

ความจำเป็นของการต้องมีกลไกที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ สำหรับลูกหนี้รายย่อย ซึ่งในหลายประเทศใช้กันแล้วคือ การแก้กฎหมายล้มละลายเปิดช่องให้มีการฟื้นฟูหนี้สินให้กับรายย่อย ซึ่งเสนอควบคู่กับการยกระดับกลไกไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนจะเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย พร้อมมีระบบนิเวศของคนที่มีความสามารถเป็นผู้ช่วยลูกหนี้รายย่อยได้ เช่น หมอหนี้

 “ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านวาระ 1 ของสภาชุดที่แล้ว ซึ่งตอนนี้เห็นแนวโน้มที่ดี เมื่อนโยบายของรัฐบาลใหม่แถลงนโยบายเรื่องหนี้เป็นเรื่องแรก ก็เชื่อว่า จะได้เห็นกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณา และคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่ามีประเด็นอะไรบ้าง”

แนะส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน

นอกจากนั้น ควรมีการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน หลักๆ 3เรื่องที่เสนอคือ

  1. ยกเลิกเพดานดอกเบี้ย เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่แท้จริงในตลาด เพราะผู้กำกับดูแลหรือใครก็ตามไม่มีทางจะล่วงรู้ว่า Pricing ที่เหมาะสมกับภาวะของหนี้หรือความเสี่ยงของลูกหนี้นั้นเป็นอย่างไร หากมีกังวลบางผลิตภัณฑ์ อาจจะไปใช้กลไกกฎหมายเรื่องหนี้ที่ไม่เป็นธรรมให้ชัดเจน
  2. เรื่องฟินเทค ซึ่งเคยคาดหวัง จะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามากระตุ้นการแข่งขันให้เกิดขึ้นน่าจะช่วยให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น แต่ความเป็นจริง จากที่สัมภาษณ์ผู้ประกอบการจำนวนมากพบว่า ผู้ประกอบการมีอุปสรรคเยอะมาก เช่น บสย.ซึ่งเป็นกลไกค้ำประกันสำหรับเอสเอ็มอี แต่ยังไม่เปิดให้ใครก็ตามที่ไม่ใช่ธนาคาร “ฟินเทค”จึงไม่สามารถเข้าถึงตรงนี้ได้
  3. เรื่อง Moral Hazard ต้องจับตาทุกภาคส่วน ทุกคนมีส่วนทำให้เกิด Moral Hazard ได้ทั้งนั้น รวมทั้งผู้กำหนดนโยบายด้วย ซึ่งต้องระวังไม่ให้ เช่น อาจจะมีพรรคการเมืองหรือรัฐบาล อยากจะเอาใจลูกหนี้ ประกาศลดดอกเบี้ยลงไปอีก ซื่งจะเป็นประเด็นสุ่มเสี่ยง

“กฎหมายล้มละลายสำหรับรายย่อย ถือเป็นกลไกให้เจ้าหนี้ทุกรายเข้ามามีส่วนร่วมเจรจาปรับโครงสร้างหนี้พร้อมกัน จะไม่ตกอยู่ในฝ่ายเสียเปรียบ กรณีลูกหนี้เลือกคุยกับเจ้าหนี้รายใหญ่และเป็นโอกาสเก็บหรือสร้างฐานข้อมูลลูกหนี้อย่างเป็นระบบคือ ลูกหนี้ต้องเปิดเผยเจ้าหนี้,มูลหนี้ และเพื่อป้องกัน Moral Hazard ควรจะมีบทลงโทษ ถ้าหากลูกหนี้ให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง/ฉวยโอกาสเชิงกฎหมาย ถือเป็นโอกาสที่จะมีข้อมูลรอบด้านเกี่ยวกับหนี้ของครัวเรือน บุคคลต่างๆมากขึ้น”

ขณะเดียวกันเป็นโอกาสสร้างความรู้ทางการเงิน เมื่อลูกหนี้มาใช้กลไก จะมีข้อกำหนดเช่น ต้องรับการอบรมหรือคุยกับที่ปรึกษาเรื่องหนี้กี่ชั่วโมง จึงจะถือว่า ผ่านคุณสมบัติที่จะออกจากแผนและเสนอให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า(กขค.) เป็นกลไกกำกับดูแลเรื่องการแข่งขันและป้องกันการผูกขาดในภาคการเงินด้วย

เพราะปัจจุบันภาคการเงินมีการเปลี่ยนแปลงไวมาก เช่น Visual Bank หรือผู้ให้บริการเริ่มไม่ใช่สถาบันทางการเงินแล้ว ซึ่งมีความซับซ้อนในการกำกับดูแลมากขึ้นมาก หรือผู้ให้บริการเริ่มไม่ใช่สถาบันทางการเงินแล้ว ซึ่งมีความซับซ้อนในการกำกับดูแลมากขึ้นมาก

"วิธีการยกระดับการให้ความรู้ทางการเงินโดย หมอหนี้และผู้ให้บริการหรือสถาบันการเงินทั้งหลายสามารถกำหนดแรงจูงใจ นอกเหนือจากการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อหรือเงินฝาก เช่น มีส่วนลดให้สำหรับคนที่ออมเงินได้มากขึ้น”

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,034 วันที่ 10 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2567