“อดิศร เสริมชัยวงศ์”กับภารกิจ Wealth Management ค่ายกสิกรไทย

19 ต.ค. 2567 | 05:58 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2567 | 06:01 น.

Wealth Management ค่ายกสิกรไทย แนะจัดพอร์ตลงทุนใหม่ให้สอดคล้องกับตลาดโลกแบบกระจายความเสี่ยง หลังขาดทุนมากจากการลงทุนตามกระแส แต่ตลาดผันผวนมากขึ้น

KEY

POINTS

  • Wealth Management ค่ายกสิกรไทยตั้งเป้าให้ลูกค้าปรับพอร์ตการลงทุน โดยการกระจายความเสี่ยง และวางแผนการลงทุนใหม่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • พร้อมเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย และให้คำปรึกษาในการจัดการพอร์ต รวมถึงการวางแผนภาษี เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาลงทุนมากขึ้น
  • KBank มี AUM (Assets Under Management) สูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท และคาดว่า จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเน้นการสร้าง Core Port ที่กระจายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

หลังเข้าดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ ทำหน้าที่ผู้บริหารสายงานร่วม Wealth Management and Bancassurance Division และทำหน้าที่ Private Banking Group Head ดูแลงาน Private Banking Group ธนาคาร กสิกรไทยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ผู้บริหารสายงาน ร่วม Wealth Management and Bancassurance Division ธนาคาร กสิกรไทย จำกัดเปิดเผยว่า ภารกิจหลักคือ การเชิญชวนลูกค้าให้กลับมาวางแผนในการจัดพอร์ตการลงทุนใหม่ให้สอดคล้องกับตลาดโลกแบบกระจายความเสี่ยง

เพราะการลงทุนในปัจจุบัน มีทั้งลูกค้าที่ระมัดระวังการลงทุนมาก เน้นลงทุนเฉพาะพันธบัตร ตราสารหนี้ กระจุกตัวอยู่เพียงสินทรัพย์เดียว

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ผู้บริหารสายงาน ร่วม Wealth Management and Bancassurance Division ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด

"เป้าหมายคือ ต้องการช่วยลูกค้าให้ขยับ หรือเปิดโอกาสให้ลูกค้าจัดพอร์ตการลงทุน โดยการกระจายความเสี่ยงมากขึ้น เพราะอดีตที่ผ่านมา ลูกค้าขาดทุนเยอะมากกับการลงทุนอะไรที่เป็นกระแส"

ดังนั้นเราจึงอยากชวนลูกค้ามาปรับพอร์ตใหม่ อยากให้ลูกค้ามองในมิติของการวางแผน การจัดระเบียบ จัดพอร์ตใหม่ที่เรามองว่า มีประสิทธิภาพมากกว่าในการลงทุน หรือสร้างผลตอบแทนและมีประสิทธิภาพมากในการบริหารจัดการพอร์ต จัดการภาษีต่างและวันนี้ ก็เริ่มเห็นแล้วว่า ด้วยกลยุทธ์แบบนี้ทำให้วันนี้เราสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นพอสมควร

ขณะนี้ เริ่มเห็นลูกค้าสนใจในการปรับเปลี่ยน ปรับมุมมอง ในการลงทุนใหม่มากขึ้น ทั้งในส่วนของลูกค้า KBank Private Banking ของกสิกรไทยเอง หรือลูกค้าจากพอร์ตอื่นๆ ก็สนใจมาลงทุนเช่นกัน แต่การจูงใจให้ลูกค้าหันมาลงทุนกับ KBank Private Banking ไม่ใช่เป็นการไปเอาลูกค้าคนอื่นมา เพราะวันนี้ลูกค้า Private Banking ที่อยู่ในตลาดส่วนใหญ่เป็นลูกค้ากสิกรไทยเกือบ 90% อยู่แล้ว

“่สิ่งที่ต้องการทำให้เกิดคือ เงินลงทุนของลูกค้าที่ต้องการให้มาลงทุนกับ KBank Private Banking มากขึ้น เพราะหากพูดถึงเงินลงทุนที่มาลงทุนกับเรา วันนี้ยังน้อย ดังนั้นส่วนนี้คือส่วนที่เราต้องการไปเจาะมากขึ้น"  

ทั้งนี้หากมองสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ของธนาคารกสิกรไทยถือว่า เป็นอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว เพราะมี 

  • AUM ภายใต้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย (KAsset) 1.60 ล้านล้านบาท ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมกองทุนรวม
  • AUM ของ KBank Private Banking อยู่ที่ราว 9 แสนล้านบาท  แบ่งเป็นเงินลงทุนในกองทุนรวมกว่า 4 แสนล้านบาทและอยู่ในเงินฝากและบอนด์ราว 5 แสนล้านบาท จากจำนวลูกค้าทั้งสิ้น 1.2 หมื่นคน และคาดว่า AUM สิ้นปีนี้มีโอกาสแตะ 9.5 แสนล้านบาท

“อดิศร เสริมชัยวงศ์”กับภารกิจ Wealth Management ค่ายกสิกรไทย

“เราตั้งใจในการเป็น Market Leader ในธุรกิจ Private Banking ที่เน้น Product offering ไม่ว่าจะเป็น Core port ที่เรามีแข็งแกร่งกว่าทุกปี และมีโปรดักต์ที่หลากหลาย และเป็นผู้นำคนอื่นๆ ขณะที่การให้คำปรึกษาด้านอื่นๆ เรื่องแลนด์โลนเราก็ยังคิดว่าเราเป็นผู้นำ” 

ด้านของการลงทุน ภายใต้ สถานการณ์ปัจจุบันที่เริ่มเข้าสู่ วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง เริ่มเห็นหลายประเทศลดดอกเบี้ยมากขึ้น ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ดังนั้นมองว่า จังหวะนี้ถือเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการมองหาโอกาสในการลงทุน เพราะหากรอช้ากว่านี้ หรือรอให้ดอกเบี้ยลงชัดเจนทั่วโลก ตอนนั้นอาจไม่ทันแล้ว 

นายอดิศรกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา การลงทุนของคนไทยเหมือนเล่นหวย ลงทุนไม่มีแบบแผน กระจุกตัว รับความเสี่ยงสูงมาก จนทำให้บางจังหวะการลงทุนเหมือนเล่นหวย เห็นการลงทุนไหนบูมก็ไปลงทุนทั้งหมด ทำให้สุดท้ายผลตอบแทนติดลบ

ดังนั้นมองว่า ควรจัดพอร์ตใหม่ วางแผนเงินลงทุนมาไว้ที่ Core Port ที่เป็นการกระจายการลงทุนทุกสินทรัพย์ ทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับการลงทุนใน Core satellite port ของ KBank Private Banking เช่น กองทุน K-ALLROAD ที่มีการแนะนำลงทุน ที่เน้นการลงทุนระยะยาว เน้นกระจายการลงทุน ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ทั่วโลก และเป็นการลงทุนในหุ้นที่มีเสถียรภาพ ยั่งยืนในระยะยาว เพราะกองทุนที่หวือหวามักนำมาสู่การความเสี่ยงที่อาจทำให้สูญหายของเงินต้นได้  

ปัจจุบันมีกองทุนภายใต้ KBank Private Banking ที่ออกมานำเสนอขายให้กับนักลงทุนกลุ่มมั่งคั่งแล้วทั้งหมดราว 14 กองทุน รวมมูลค่า 8.5 หมื่นล้านบาท 

อีกบริการภายใต้ KBank Private Banking ที่เริ่มเห็นความสนใจมากขึ้น คือ Land Loan for Investment จากกลุ่มลูกค้ามั่งคั่งทั้ง High Net Worth ลูกค้ากลุ่ม Private Banking ที่พบว่า ปัจจุบันกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง มักมีการสะสมที่ดินสูงกว่าเงินฝากหลายเท่าตัว แต่การขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดิน หรือการวางแผนเกี่ยวกับภาษีที่ดินถือว่า ยังต่ำมาก  

นอกจากนั้นยังพบว่า การทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดินในช่วง 2-3 ปีลดลงต่อเนื่อง ทั้งการขายที่ดินต่างๆ ที่เริ่มเห็นลดลงสำหรับกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง และพบว่า ราคาที่ดินไม่ได้มีการปรับขึ้นเลยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคาเริ่มตึงตัว สะท้อนว่าที่ดินเริ่มไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้เหมือนในอดีต และจากการศึกษายังพบว่า หากลูกค้าถือที่ดินต่อไปอีก 25 ปีข้างหน้า ภาษีที่ดินจะเทียบเท่ากับมูลค่าที่ดินที่ถืออยู่ 

ดังนั้นมองว่า ถึงเวลาที่จะนำที่ดินมาสร้างรายได้ให้เกิดการเลี้ยงตัวเอง จึงนำมาสู่การให้บริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบริการ “Land Loan for Investment” เพื่อให้เกิดการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างผลตอบแทน ซึ่งปัจจุบันมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท และที่อยู่ระหว่างการเจรจาอีก 5-6 พันล้านบาท

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,035 วันที่ 13 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2567