กสิกรไทยชี้รัฐเปิดทางไทยเป็นศูยน์กลาง “อาเซียน” แนะโอกาสธุรกิจ

07 ต.ค. 2567 | 04:56 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2567 | 04:56 น.

กสิกรไทยเผยรัฐบาลพร้อมเคลื่อนประเทศไทยเป็นศูยน์กลางของ “อาเซียน” แนะโอกาสธุรกิจขยายตลาด ระบุอีก 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจอาเซียนโต 4.6%แซงจีดีพีโลก

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเรื่อง “investment opportunities in ASEAN” ในงานสัมนา “ASEAN Economic Outlook 2025 : The Rise of ASEAN, A Renewing Opportunity”  จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่า อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่น่าสนใจที่สุดในโลกตอนนี้ เนื่องจากเรามีความเป็นกลางท่ามกลางความผันผวนของโลกใบนี้ และเราได้เปรียบเชิงพื้นที่ ภูมิศาสตร์ เพื่อสร้างทรัพยากรธรรมชาติ แรงงานที่มีอยู่ในมือที่ค่าจ้างยังไม่สูงนัก 

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย

ทั้งนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้พูดว่ารัฐบาลก็มีวิสัยทัศน์ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ฉะนั้น เป็นบทบาทของรัฐบาลที่จะช่วยภาคเอกชนให้เกิดขึ้นได้ เมื่อสิ่งเหล่านั้นเกิด หรือยังไม่เกิด แต่มีความพยายามเหล่านั้นแล้ว บทบาทของนักธุรกิจจะต้องทำอะไรบ้างนั้น มองว่านักธุรกิจไทยมีบทบาทที่จะลงทุนในประเทศไทย และหาโอกาสทางการตลาดที่เพื่อให้เข้าถึง และมีกำไร 

“เมื่อรัฐบาลเคลียร์ปัญหา หรือประเด็นต่างๆ ที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นพี่ใหญ่ในอาเซียนได้ นักธุรกิจไทยมีโอกาสเข้าไปลงทุนในอาเซียนเช่นเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเติบโตไปด้วยกัน”

นางสาวขัตติยา กล่าวว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการไว้ว่า 5 ปีข้างหน้าASEAN-5 จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 4.6% และใน 5 ปีจะเติบโตแซงเศรษฐกิจของโลก ซึ่งคาดว่าอยู่ที่ 3.1% 

สำหรับเศรษฐกิจประเทศเวียดนาม โต 6.4% ส่วนอิโดนีเซีย 5% ซึ่งภาพใหญ่ของอินโดนีเซีย นอกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีจุดเด่นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ แร่ธาตุต่างๆ เหมาะสมกับการธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า

ด้านเวียดนาม มีจุดแข็งเรื่องค่าแรงที่ต่ำ และมีมาตรการการค้าลักษณะทวิภาคี และพหุภาคี ฉะนั้น ในมุมนักธุรกิจไทย เรามีจุดแข็ง ความรู้ และประสบการณ์  เราจะไปลงทุนในประเทศต่างๆ เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ในธุรกิจของเรา และประเทศไทยอย่างไร

สำหรับนักธุรกิจที่ไปลงทุนในประเทศนั้นๆ ในมุมหนึ่ง คือ ตลาดที่ใหญ่ ประชากรที่มีจำนวนมากที่สุด คือ เวียดนาม ปัจจุบันมี 99 ล้านคน และในปี 2050 จะมีประชากร 107 ล้านคน อินโดนีเซีย มี 277 ล้านคน จะเป็น 317 ล้านคน ในปี 2050 ซึ่งยังอยู่ในวัยที่กำลังซื้อและกำลังใจ ส่วนปีที่เขาจะเข้าเกณฑ์สังคมสูงวัย หากไม่นับรวมประเทศไทย เร็วที่สุดเวียดนามอยู่ในเกณฑ์อีก 10 ปี ส่วนมาเลเซีย อินโดนีเซียอีก 20 ปี ฉะนั้น เป็นแหล่งตลาดที่น่าจะมีโอกาสในการค้าขายได้มากขึ้น 

ขณะที่หากมองในมุมธนาคาร ยังมีโอกาสในการทำธุรกิจมากน้อยเพียงใดนั้น พบว่า ประชากรที่ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินที่ดีในราคาที่ยุติธรรม อินโดนีเซีย 48.2% เวียดนาม 43.7% จีน 11.2% และไทย 4.4%  หากถามธนาคารกสิกรไทย แน่นอนว่า ตลาดหลักยังเป็นประเทศไทย แต่จะทำอย่างไรในฮับที่เป็นประเทศไทยจะกระจายบริหารทางการเงินดีๆ ไปให้ประชากรในประเทศต่างๆ ได้ด้วย

ทั้งนี้ นอกเหนือที่เราจะ Know HOW คือ เรารู้ธุรกิจของเรา ทำผบิตภัณฑ์สินค้าของเรามาตลอดเวลา ในประเทศของเราทำได้เก่งมาก แต่เมื่อไปตลาดอีกที่หนึ่ง ต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และเมื่อมีความพร้อมและเก่งแล้ว ก็ไปที่ Know WHERE ซึ่งไม่ใช่เฉพาะว่าเรารู้จะไปตลาดที่ไหน แต่จะต้องดูพฤติกรรม ลักษณะความต้องการของลูกค้าเป็นอย่างไร กฎระเบียบข้อบังคับจะกระทบการทำธุรกิจหรือไม่

และสุดท้าย Know WHO ต้องรู้จัก Lubricator และช่วยขับเคลื่อนอนาคตธุรกิจในประเทศนั้นๆ ได้ ซึ่งการที่มี Local Partner พร้อมทำงานกับเรา

“กฎระเบียบต่างๆ รัฐบาลจะช่วย ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของเรา ที่จะต้องสู้ หาวิธีการจัดการให้สำเร็จได้ และการที่เราจะไปในอาเซียน เชื่อว่า ไม่มีนักธุรกิจไหนประเทศใดจะทำได้สำเร็จเท่ากับนักธุรกิจไทย ของให้ Know HOW, Know WHERE, และ Know WHO”