การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ หรือ Inflation tarketing ถูกนำมาเป็นเป้าหมายหลักของนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมีเครื่องมือสำคัญคือ ดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรักษาระดับราคาสินค้าและบริการ ไม่ให้เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไปจนกระทบกับเศรษฐกิจ
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2551 มีอำนาจตัดสินใจว่า จะปรับขึ้นหรือลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนด
ทั้งนี้ในการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแต่ละปี จะเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการ ธปท.ในฐานะประธาน กนง. ในการกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลางและเป้าหมายประจำปี ตามพระราชบัญญัติ ในมาตรา 28/8 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 4 )พ.ศ 2551
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง.จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อชี้แจงถึงสาเหตุของการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายที่ตกลงไว้
รวมถึงแนวทางดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาและในระยะต่อไป เพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม รวมถึงระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับสู่เป้าหมาย
นอกจากนี้ กนง.จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุก 6 เดือน หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยยังคงอยู่นอกกรอบเป้าหมายและจะรายงาน ความคืบหน้าของการแก้ปัญหาเป็นระยะตามสมควร
อย่างไรก็ตามจะพบว่า ที่ผ่านมาไม่เพียงแค่ธปท.ของไทยเท่านั้นที่มีปัญหากับรัฐบาล แต่ยังเกิดขึ้นกับธนาคารกลางทั่วโลกเป็นเนืองๆ ด้วยเหตุที่เป้าหมายของรัฐบาลกับธนาคารกลางแตกต่างกัน รัฐบาลมุ่งไปที่การเติบโตของเศรษฐกิจ(จีดีพี) ขณะที่ธนาคารกลางมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางการเงิน ไม่ให้เงินเฟ้อสูงจนเกินไป
ประเด็นดอกเบี้ยนโยบาย จึงเป็นความขัดแย้งหลัก เพราะรัฐบาลมองว่า หากกนง.ลดอัตราดอกเบี้ยลง เศรษฐกิจน่าจะโตได้มากกว่านี้ และทำให้คนที่มีภาระต่อการใช้จ่ายลดลง เกิดการบริโภคมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น ขณะที่ธปท.มองว่า ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง การปรับลดดอกเบี้ยจะไปซ้ำเติมให้การก่อหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นจุดเปราะบางทางเศรษฐกิจได้
ดังนั้น ความเป็นอิสระของนโยบายการเงิน จึงเป็นเรื่องที่สําคัญอย่างมาก มีงานวิจัยและประสบการณ์จากทั่วโลกในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาพบตรงกันว่า ถ้าตลาดขาดความเชื่อมั่นในเรื่องของความเป็นอิสระทางความคิดของธนาคารกลาง ตลาดจะปั่นป่วนผันผวน และไม่เชื่อใจ ทั้งประเด็นการควบคุมเงินเฟ้อ และวินัยทางด้านการเงินการคลังอีกต่อไป
มีคำถามเกิดขึ้นอีกเช่นกันว่า ธนาคารกลางจะอิสระโดยปราศจากความรับผิดชอบหรือไม่ เพราะหลายครั้งของการดำเนินนโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อแล้ว ที่สุดก็ไม่สามารถดูแลให้อัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ตกลงกับรัฐบาลไว้ได้
ในระยะแรก เป้าหมายเงินเฟ้อ จะถูกกำหนดด้วย เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาส ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยรายปีในปี 2558
ทั้งนี้หากดูเป้าหมายของนโยบายการเงินในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า ช่วงปี 2558-2562 จะกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2.5 บวกลบ 1.5% หรือเคลื่อนไหวในกรอบ 1-4% แต่พบว่า ธปท.สามารถดูแลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายได้เพียงปีเดียวเท่านั้นคือปี 2561 โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี ขยายตัว 1.07%
ส่วนที่เหลือล้วนหลุดขอบล่าง ไม่ว่าจะเป็นปี 2558 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.9% ปี 2559 เงินเฟ้อขยายตัว 0.9% ปี 2560 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ขยายตัว 0.66% และปี 2562 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ขยายตัว 0.71% เท่านั้น
ส่วนช่วงปี 2563-2567 กำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3 % มีเพียงปี 2564 และ 2566 เท่านั้นที่ธปท.สามารถดูแลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย จากที่อัตราเงินเฟ้อขยายตัว 1.23%
ขณะที่ปี 2563 ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป หลุดกรอบล่าง ติดลบ 0.85% ส่วนปี 2565 อัตราเงินเฟ้อเกินกรอบบน จากการขยายตัวที่ 6.08%และล่าสุด อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในสถานการร์หลุดกรอบล่าง จากการขยายตัวเพียง 0.6%
ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธปท.ได้หารือถึงกรอบเป้าหมายสำหรับปี 2568 แล้วแต่ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ
ส่วนการกำหนดเป้าหมายที่ 1-3% ในช่วงที่ผ่านมามองว่า มีความเหมาะสมเนื่องจาก ยังคงเป้าหมายเป็นการแสดงถึงความตั้งใจที่จะรักษาเสถียรภาพราคา อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณะและช่วยยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย
ขณะที่ในช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อมีความผันผวนและไม่แน่นอนสูงการปรับ เป้าหมายนโยบายอาจสร้างความสับสนต่อสาธารณชนเกี่ยวกับแนวนโยบายในระยะข้างหน้า และการกำหนดเป้าหมายแบบช่วงที่มีความกว้าง 2% มีความยืดหยุ่นเพียงพอรองรับความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะปานกลางรวมถึงช่วยเอื้อให้การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในระยะปานกลางสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
สำหรับช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า กนง.มีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อชี้แจงถึงสาเหตุของการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายที่ตกลงไว้คือ
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,044 วันที่ 14 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567