สินเชื่อเช่าซื้อปี67ฮวบ ปล่อยกู้ดิ่ง 1 แสนล้าน

13 ธ.ค. 2567 | 09:08 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2567 | 09:08 น.

แบงก์เข้มปล่อยกู้ กดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไตรมาส 3 หดตัว 7.6% ต่อเนื่องไตรมาสที่ 3 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินสินเชื่อเช่าซื้อปี68 โอกาสติดลบ 7.5% หากสิ้นปี 67 หดตัวใกล้ 10%

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เผยผลการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2567 พบว่า สินเชื่ออุปโภคบริโภคระบบธนาคารพาณิชย์หดตัว 1.0% จากระยะเดียวกันปีก่อน หลักๆมาจากยอดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ติดลบ 7.6% ซึ่งหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม จากราคารถยนต์มือสองปรับตัวลดลง ทำให้การขาดทุนจากรถยึดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินคุณภาพหนี้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์พบว่า สัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL หรือ stage3) อยู่ที่ 2.3% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 2.13% และยอดคงค้างอยู่ที่ 24,847 ล้านบาทเทียบ จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 25,124 ล้านบาท

สินเชื่อบุคคลภายใต้การกำกับ

ส่วนหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (Stage2 หรือ SM) เร่งตัวขึ้นเป็น 15.69% ในไตรมาส3 ที่ผ่านมาเทียบจากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 14.29% ซึ่งภาพรวมไตรมาส 3 หนี้ด้อยคุณภาพของสินเชื่อเช่าซื้ออยู่ที่ 17.99% คาดว่ าสิ้นปีนี้มีโอกาสขยับเพิ่มโดยเดิมประเมินไว้ไม่เกิน 18%

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มสิ้นปีนี้ สินเชื่อเช่าซื้อกลุ่มธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 17 แห่งมีโอกาสติดลบใกล้ 10% หลังจากไตรมาส 3ของปีนี้หดตัว 9.1% ทำให้ยอดคงค้างลดลงจาก 1.18 ล้านล้านบาทเหลือ 1.08 ล้านล้านบาท หรือลดลงราว 1 แสนล้านบาท

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

สอดคล้องกับตลาดรถยนต์ในประเทศที่หดตัวแรง โดยปีนี้ยอดขายรถยนต์ในประเทศช่วง 10 เดือนมีจำนวน 476,350 คัน ลดลง 26.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 

ส่วนไตรมาสสุดท้ายของปี ตัวเลขไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงมากและสิ้นปีน่าจะปิดติดลบใกล้ 10%  ซึ่งลึกกว่าประมาณการที่มองว่า จะติดลบ 5.5% และมองต่อไปในปีหน้า สินเชื่อเช่าซื้อมีโอกาสจะติดลบ 7.6%เป็นการติดลบน้อยลงจากปีนี้

สอดคล้องกับมุมมองของภาคอุตสาหกรรมที่มองตลาดรถยนต์ภายในประเทศอยู่ในภาวะอ่อนแอ และแม้ว่าปีหน้าภาพรวมเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ แต่ยังมีบางส่วนที่ยังมีสัญญาณฟื้นตัวช้า ขณะที่รายได้ของครัวเรือนยังไม่ฟื้นกลับมาอย่างทั่วถึง ทำให้ประชาชนที่มีกำลังซื้อมีค่อนข้างจำกัด

“ปีนี้เราปรับคาดการณ์สินเชื่อเช่าซื้อจะติดลบใกล้ 10% จากเดิมมองติดลบ 5.5% และปีหน้าก็มองว่า จะติดลบต่อที่ 7.5% ถ้าภาพเป็นตามประมาณการณ์"

ดังนั้น จึงสะท้อนภาพรวมสินเชื่อเช่าซื้อจะติดลบต่อเนื่อง 3 ปีคือ สิ้นปี66 ติดลบ 0.4% ปี67 ติดลบใกล้ 10% และปีหน้าติดลบ 7.5% ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยกดดันฉุดภาพรวมของสินเชื่อรายย่อย

ทั้งนี้ สินเชื่อเช่าซื้อยังอยู่ในภาวะติดลบ หากนับเป็นรายไตรมาสที่ผ่านมา สินเชื่อเช่าซื้อหดตัวมาแล้ว 4 ไตรมาสคือ ไตรมาส 3 ปีนี้ติดลบ 9.1% ไตรมาส2 ติดลบ 6.2% ไตรมาส 1 ติดลบ 3.0% และไตรมาส 4 ปี 2266 ติดลบ 0.4% สอดคล้องกับภาพรวมกำลังซื้อและยอดขายรถยนต์ในประเทศ 

สำหรับไตรมาส4 ปีนี้ ภาพยังไม่ฟื้นกลับมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับประมาณการจากที่มองติดลบ 5.5% เป็นติดลบใกล้ 10% และภาพของสินเชื่อเช่าซื้อในปีหน้ายังคงติดลบ 7.5% ซึ่งสเกลการติดลบไม่ได้ลึกเท่าปีนี้

ปัจจัยหลักๆ มาจากภาพรวมตลาดรถยนต์ที่ยังอ่อนแอ ประกอบกับเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เพียงระดับหนึ่ง โดยที่กำลังซื้อของครัวเรือนยังไม่กลับมาอย่างทั่วถึง

สำหรับสัญญาณหนี้ด้อยคุณภาพ (Stage3/Stage2) ยังเป็นประเด็น ทำให้สถาบันการเงินพิจารณาความเสี่ยงของเครดิตของผู้กู้และผู้กู้เอง เริ่มมองความสามารถในการที่จะแบกรับสินเชื่อก้อนใหญ่ไปอีกในหลายปีอาจจะยังไม่พร้อม เพราะรายได้ที่ยังไม่กลับมาเต็มที่

นายศรัณย์ ทองธรรมชาติ นายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวโน้มสินเชื่อเช่าซื้อน่าจะมีทิศทางดีขึ้นในไตรมาส 4 แต่เป็นลักษณะตลาดดีขึ้นเพียงเล็กน้อยจากค่ายรถยนต์จัดทำโปรโมชั่นในไตรมาสสุดท้ายของปี

นายศรัณย์ ทองธรรมชาติ นายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย

โดยเฉพาะมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 41 หรือ Motor Expo 2024 ซึ่งน่าจะเห็นกำลังซื้อเข้ามาในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้และต้นปีหน้า

 “ช่วง 9เดือนที่ผ่านมา แม้จะมียอดการปล่อยสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่เริ่มซื้อรถยนต์ทดแทนหรือการขยายตัวของกลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มขนส่งและร้านอาหารบ้าง แต่ภาพรวมยอดสินเชื่อเช่าซื้อไตรมาส 4 น่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน"

เนื่องจากยังมีปัจจัยกดดันคือ ภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยๆฟื้นตัว โดยเฉพาะสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งกดดันกำลังซื้อในประเทศและสัญญาณหนี้เสียที่ยังมีโอกาสไหลเพิ่ม จึงส่งผลให้ผู้กู้ไม่มั่นใจต่อรายได้ของตัวเองทำให้บางส่วนไม่กล้าก่อหนี้

ส่วนรายที่กล้าก่อหนี้กลับไม่ได้รับโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อ เพราะสถาบันการเงินไม่ยืดหยุ่นในกระบวนการปล่อยสินเชื่อ เห็นได้จากที่ผ่านมา แม้ว่าอัตราการปฎิเสธ (Reject ratio) จะดีขึ้น

อย่างรถยนต์ใหม่และกระบะ Reject ratio อยู่ที่ 20-25% เก๋ง อยู่ที่ 15-20% รถยนต์เก่าหรือมืออสองมากกว่า 30% แต่กระบวนการพิจารณาไม่ได้ยืดหยุ่น โดยมีการควบคุมและระมัดระวัง ภาพรวมจึงสะท้อนสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อยาก แต่แนวโน้มคุณภาพสินเชื่อจะดีขึ้นจากการเฟ้นลูกค้าดีเข้าพอร์ต 

อย่างไรก็ตาม สัญญาณการแข่งขันไตรมาส 4 ยังคงเกาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ โดยบางไฟแนนซ์กล้าอนุมัติสินเชื่อ แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนๆคาดว่า ไตรมาส 4 และทั้งปีนี้ยอดสินเชื่อยังมีโอกาสติดลบ หลังจากที่เห็นตัวเลขสินเชื่อเช่าซื้อไตรมาส 3 ติดลบเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2

“ส่วนตัวเองก็มองว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคยังลดลงท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ซบเซาจากปัญหาสัดส่วนหนี้ครัวเรือน ซึ่งสอดคล้องกับส.อ.ท.ปรับเป้ายอดขายรถยนต์อีกครั้ง"

โดยปีนี้มีการปรับลดเป้ายอดขายรถยนต์ในประเทศลงหลายครั้ง อย่างต้นปีตั้งเป้าไว้สูงเป็น 1ล้านคัน ถัดมาครึ่งปีแรกก็ปรับลดเป้าลงเหลือเป็น 7-8แสนคัน จากนั้นก็ทยอยปรับลดอีก ล่าสุดปรับลดเป้าเหลือแค่ 4.5แสนคันจาก 5.5 แสนคัน

นายศรัณย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงนี้อาจจะเห็นการทยอยขายพอร์ตหนี้สินเชื่อรถยนต์ออกมาบ้าง สัญญาณการขายหนี้ทรงตัวในระดับสูง ส่วนตัวมองว่า ปีหน้าตลาดเช่าซื้อรถยนต์มีแนวโน้มดีขึ้นชัดเจน โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งจากมาตรการและโครงการต่างๆของภาครัฐจะออกมา

ประกอบกับร่างพระราชกฤษฎีกา ให้อำนาจธปท. กำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่จะออกมาต้นปีหน้าและการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มีความเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตรถยนต์ EV อาจขออนุญาตกระทรวงพาณิชย์ เพื่อปล่อยสินเชื่อในระบบ

แต่ก็ยังมีปัจจัยกดดัน ไม่ว่าความกังวลจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนและเอ็นพีแอลที่ทรงตัวระดับสูง

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า แนวโน้มปีหน้า หนี้เสียกลุ่มลูกค้ารายย่อยยังไม่ลดลงเร็ว เพราะสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ที่ดูเหมือนปรับลดลง แต่เพราะจีดีพีไม่เติบโตและธนาคารค่อนข้างไม่ปล่อยสินเชื่อ

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์

ซึ่งผลสำรวจจากมาตรการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลระบุว่า ประชาชนนำเงินไปจ่ายหนี้และการแจกเงินในรอบสอง เชื่อว่า ยังคงเป็นการนำไปจ่ายหนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทยพาณิชย์ยังพบกลุ่มลูกค้าที่มีความเปราะบางในกลุ่มฐานเงินเดือนเริ่มขยับขึ้น คือ เดิมธนาคารกังวลกลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือน 30,000 บาท แต่ตอนนี้เห็นสัญญาณขยับเกิน 30,000 บาท แต่ไทยพาณิชย์จะเน้นลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้ 50,000 บาทขึ้นไป  

ในแง่ของการบริหารสินทรัพย์นั้น ตอนนี้ความเสี่ยงเรื่องการขายหนี้ขาดทุนหรือ Loss on Sale ของทุกคนจะเพิ่มขึ้น ซึ่งขึ้นกับประเภทของสินทรัพย์และมุมมอง เช่น  ธนาคารหนึ่งมีมุมมองลบต่อเศรษฐกิจ และถือสินทรัพย์ที่ไม่น่าจะมีโอกาสจะกลับมาฟื้น อาจจะเห็นธนาคารตัดสินใจขายพอร์ตหนี้เสีย ซึ่งเป็นการยอมขาดทุนวันนี้ดีกว่าจะไปขาดทุนในอนาคตที่มากกว่ากว่า

แต่หากธนาคารมองว่า สินทรัพย์ที่ถืออยู่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจแล้ว วันนี้อาจจะดูไม่ดี แต่อนาคตคงจะกลับมาเขาอาจจะกันส่วนหนี้โดยยังไม่ขายขาดทุน

ในแง่การบริหารสินทรัพย์ ไทยพาณิชย์จะเน้น 3 หลักการบริหารหนี้คือ

  1. ต้องติดตามทวงถามเพื่อเก็บหนี้ให้เร็ว โดยใช้ AI ประมวลผลและช่องทางดิจิทัลที่จะทวงถาม
  2. เมื่อสถานการณ์ลูกค้าไม่ดี แบงก์ต้องเข้าไปช่วยลูกค้าให้เร็ว เช่น ต่อรองการขยายระยะเวลา, ประนอมหนี้ในลักษณะไหน 
  3. ถ้าเข้าไปช่วยแล้ว หากลูกค้าไม่ไหวจะไม่ปล่อยเป็น“ซอมบี้”โดยปรับสู่หนี้เสียหรือ Stage3

ทั้งนี้ หากเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ออนาคต ก็รีบขายให้เร็ว  เพราะหากสามารถบริหารหนี้ได้ดีจะไม่เป็นภาระในการตั้งสำรองฯ แต่ก็ไม่ง่ายที่จะรวบรัด เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบาง และยังไม่ทราบว่าจะเกิดอุบัติเหตุใด/มีโอกาสจะลามเป็นลูกโซ่หรือไม่ 

"ไทยพาณิชย์ต้องระวังตัวตลอดเวลา โดยฝ่ายจัดการมีความกังวลในพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดตลอดเวลาอยู่แล้ว  ส่วนแผนขายหนี้ของไทยพาณิชย์ถ้าขายเยอะและเร็วกว่านี้ก็จะดีแต่ปัญหาอยู่ที่ “ราคาคือ จะยอมขาดทุนที่เท่าไร"


สำหรับการร่วมทุนหรือ JV AMC นั้น นายกฤษณ์กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดภายในสิ้นปีปีนี้และไทยพาณิชย์ไม่ได้เลือกแนวทาง JV AMC อยู่แล้ว  เนื่องจากการเปลี่ยนโครงสร้างเป็น SCBX หนี้ที่มีหลักประกันจะอยู่ที่ CardX ซึ่งไทยพาณิชย์ทำหน้าที่บริหารหนี้อยู่แล้ว

อีกทั้งพอร์ตหนี้ของของไทยพาณิชย์ส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์มีหลักประกัน  ขณะที่ JV AMC ส่วนใหญ่ถนัดขายหนี้แบบไม่มีหลักประกัน จึงไม่จำเป็นต้องหาพาร์ทเนอร์

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน พอร์ตรถยนต์ควรจะรีบขาย เพราะด้วยค่าเสื่อมที่เร็วขึ้น/ด้วยรถยนต์ EVที่กำลังมา หรือ ด้วยเด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจที่จะเป็นเจ้าของแต่เน้นการใช้บริการแกร๊บหรือเช่าแทนการเป็นเจ้าของ

ซึ่งหากย้อนไปช่วงก่อนการระบาดของโควิด ยอดขายรถยนต์ใหม่ปีละประมาณ 1 ล้านคัน แต่หลังจากโควิด ยอดขายฮวบลง โดยปีนี้เหลือประมาณ 5 แสนคัน อีก 1-2 ปีหน้าหน้ายอดขายรถยนต์เต็มที่ประมาณ 4-5 แสนคัน และจากนี้ไปสู่อนาคตไม่มีทางจะเห็นยอดขายหลักล้านคันอีกแล้ว 

“พอร์ตรถยนต์ไม่ใช่พอร์ตหลักของแบงก์ไทยพาณิชย์ จะเห็นว่า 2 ปีที่ผ่านมาไทยพาณิชย์ตั้งใจเติบโตสินเชื่อพอร์ตรถยนต์ติดลบและติดลบ 2 หลักมาต่อเนื่องสองปีแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า โอกาสรถยนต์ไม่มี แต่ต้องดูเซ็กเม้นและแบรนด์รถยนต์ที่ดี แต่ดอกเบี้ยยังแข่งขันกันมากแทบจะไม่เหลือกำไร จึงไม่ง่าย” นายกฤษณ์กล่าว

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,051 วันที่ 8 -11 ธันวาคม พ.ศ. 2567